คลังหันกู้นอกช่วยเอกชน ลดปม “ดบ.-ต้นทุนกู้” พุ่ง!
คลังปรับแผนกู้เอดีบี 1.5 พันล้านดอลลาร์ หวังลดผลกระทบจากการกู้เงินในประเทศ เหตุหากปล่อยให้ดีมานด์เยอะ ดันดอกเบี้ยและต้นทุนเงินกู้ภาคเอกชนสูง เผย! คุยแบงก์ชาติรับมือเงินทุนนอกไหลเข้าทำบาทแข็งต่อเนื่อง ห่วงสุดคือเก็งกำไรค่าเงิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวภายหลังพิธีลงนามใน สัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program วงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กับ Mr. Hideaki Iwasaki ผอ.สำนักงานผู้แทนเอดีบี ประจำประเทศไทย ว่า การกู้เงินครั้งนี้อยู่ในกรอบของ พ.ร.ก.กำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท)
โดยเอดีบีได้จัดเตรียมมาตรการทางการเงินเพื่อให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบผ่อนปรน ซึ่งสามารถนำไปสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่รัฐบาลของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สาเหตุที่รัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง ต้องกู้เงินจากต่างประเทศเพราะต้องการกระจายการกู้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่าภาคเอกชนมีความต้องการเงินกู้จากแหล่งเงินภายในประเทศ หากรัฐบาลเน้นกู้เงินภายในประเทศอย่างเดียว จะทำให้ดอกเบี้ยและต้นทุนเงินกู้ของภาคเอกชนสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่เอดีบีคิดกับไทยถือว่าต่ำมากๆ เพราะต้องการช่วยเหลือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง โดย สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะพิจารณาการกู้เงินตามความเหมาะสม ในลักษณะการทยอยกู้ตามความต้องการที่แท้จริง
นายอาคม กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ใช้เครื่องมือในการระดมทุนหลากหลายชนิด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำสัญญากู้เงิน และตั๋วเงินคลัง จากตลาดเงินในประเทศเพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินแผนงาน/ โครงการ ภายใต้ พ.ร.ก. COVID-19 ทั้ง 3 แผนงาน ได้แก่
แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019
แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการฯ
และ แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ
“กระทรวงการคลังมีภารกิจในการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ โดยการกู้เงินให้สอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายของรัฐบาล ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อรักษาความยั่งยืนของฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับสภาวะตลาด และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงินกับภาคเอกชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินโดยรวมของประเทศ” รมว.คลัง ย้ำ
นอกจากเอดีบี ก็มี สถาบันการเงินระดับโลกอีกหลายแห่ง แสดงความจำนงจะให้ไทยกู้เงิน ซึ่งคงต้องดูตามหลักการและเหตุผลตามความเป็นจริงต่อไป ทั้งนี้ ผลจากที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนๆ และทางสภาพัฒน์เอง ก็เพิ่งปรับประมาณการตัวเลขจีดีพีของปี 2563 ใหม่ และดีขึ้นกว่าเดิม สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยว่ามีแนวโน้มดีขึ้นจริง และกระทรวงการคลังเองก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตเป็นบวกอย่างแน่นอน
สำหรับจีดีพีไทยในปีนี้และคาดการณ์ในปีหน้าจะเป็นเช่นใดนั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนภาพความจริง ให้รัฐบาลและกระทรวงการคลังได้ตัดสินกู้เงินเพื่อนำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณนี้
ส่วน การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ จนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง ทำให้มีการนำเงินดอลลาร์เข้ามาพักในไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตนได้หารือกับ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแล้ว ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐจะต้องระวังให้มากที่สุดคือ การเก็งกำไรค่าเงิน
“ขณะนี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือวัตถุดิบที่จะใช้ในโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงต้นทางของโครงการฯ แต่ได้มอบให้ สบน.ไปดูศึกความเป็นไปได้และความความเหมาะสม หากจะต้องเร่งชำระเงินกู้ต่างประเทศในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า เทียบกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่มในการชำระหนี้ก่อนกำหนดว่าคุ้มค่าหรือไม่” รมว.คลัง ระบุ.