“ธนวรรธน์” เชื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวปลายปีนี้
“ดร.ธนวรรธน์” คาดโควิด-19 อยู่จนถึงสิ้นปีหน้า ชี้! หากไม่โดนโควิดฯระยะ 2 แพร่ซ้ำ เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวราวต้นปี 63 มั่นใจ! ศบศ. “เอาอยู่” แม้ไร้ รมว.คลัง เชื่อ “ตัวเลือกเก่า” เหมาะสมที่สุด เผย! ไทยใกล้เจอมรสุม “เงินฝืด” แต่แก้ได้ด้วยการอัดเงินเข้าระบบ
“เศรษฐกิจไทยยุค New Normal ไปทางไหนดี” หัวข้อที่ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และ ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย บรรยายให้กับผู้เข้าอบรมใน โครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2563 ที่ สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ม.หอการค้าไทย จัดขึ้น โดยหัวข้อดังกล่าว ถือเป็นหัวข้อสุดท้ายของโครงการฯ โดยจัดขึ้น เมื่อช่วงสายวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ณ ร.ร.อวานี พลัส หัวหิน รีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศ และคาดว่าสถานการณ์โควิดฯยังคงมีอยู่ไปจนถึงสิ้นปีหน้า แต่จะเริ่มคลี่คลายนับแต่ช่วงปลายปีนี้ ทั้งนี้ การที่ศูนย์กลางการแพร่ระบาดไปอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และทวีปแอฟริกาในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมาก โดยเฉพาะด้าน การส่งออกและท่องเที่ยว เนื่องจากตลาดส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในย่านเอเชีย ยกเว้น! อินเดีย ขณะที่ สหรัฐอเมริกาแม้จะประสบปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ แต่ก็เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้บ้างแล้ว
ที่สำคัญหากการนำ “ภูเก็ต โมเดล” มาใช้เป็น โครงกานำร่องเพื่อเปิดประเทศรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กระทั่งสามารถควบคุมสถานการณ์ไวรัสโควิดฯได้ จะยิ่งส่งผลดีต่อการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่ไปกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะการ กระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (Local Economy)
ส่วน แนวโน้มจากนี้ ผศ.ดร.ธนวรรธน์ เชื่อว่าพฤติกรรมหลายของผู้บริโภค อย่างจะอิงไปกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และการจัดส่งสินค้าโดยผู้ให้บริการที่มีอยู่ในระบบ ทั้งนี้ คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ราวต้นปีหน้า หากไม่มีภาวการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 เกิดขึ้น แต่จะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
สำหรับกรณีการลาออกของ นายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง นั้น ส่วนตัวเชื่อว่าคงไม่ส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลมากนัก เนื่องจากบทบาทของ รมว.คลัง ในช่วงที่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ถือเป็นเพียง “ผู้นำสาร” เพื่อนำนโยบายจาก ศบศ.ไปปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง เท่านั้น
ส่วนคนที่จะมาทำหน้าที่แทน นายปรีดี นั้น เชื่อว่า กลุ่มเทคโนแครตคงไม่อยากมาทำหน้าที่ตรงนี้ แต่หากเป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมือง ก็อาจไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนและภาคธุรกิจมากนัก ทั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าตัวเลือกที่เคยมีรายชื่อออกมาก่อนหน้านี้ อาทิ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร หรือนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ก็อาจเหมาะสมที่จะมาทำหน้าที่ รมว.คลังในสถานการณ์นี้ ซึ่งไม่ว่าเป็นใครก็ตาม เชื่อว่าคงทำงานเข้ากันได้ดีกับรัฐบาล เนื่องจากมีความคุ้นเคยกันมาก่อน
สำหรับประเด็นการใช้ อำนาจพิเศษเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการทำ รัฐประหาร นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า ยังไม่น่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหา รวมถึงการประกาศยุบสภาฯ โดยที่ยังไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้เกิดการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา และการที่รัฐบาลยืนยันเป็นแกนนำในการแก้ไขฐธรรมนูญ รวมถึงความไม่พร้อมของนักการเมือง ก็น่าจะทำให้รัฐบาลอยู่บริหารประเทศได้ครบ 4 ปี
ผู้สื่อข่าวถามถึงสาเหตุที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ไม่เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญๆ ระหว่างการแถลงข่าวเศรษฐกิจไตรมาส 2 โดยเฉพาะตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และการจัดเก็บรายได้ภาษีในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจดังกล่าวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากหรือไม่ อธิการบดี ม.หอการค้าไทย ตอบว่า น่าจะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่กระทรวงการคลัง จะไม่พูดถึงตัวเลขจีดีพี ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องการให้สังคมไทยเกิดความสับสนกับตัวเลขเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน แม้จะเป็นหน่วยงานภาครัฐเหมือนกันก็ตาม
ส่วนประเด็นภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “เงินเฟ้อในภาวะเงินฝืด” หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวว่า แม้อนาคตอันใกล้เศรษฐกิจไทยจะต้องเข้าสู้ภาวะเงินฝืด คือเป็นภาวะที่ประชาชนไม่ยอมจับจ่ายใช้สอยจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่กับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้เศรษฐกิจไทยจะเกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องมาหลายเดือน แต่ยังไม่ถึง 6 เดือน จนกลายเป็นภาวะเงินฝืด ดังนั้น ความกังวลที่ว่าเศรษฐกิจจะเกิดปัญหา “เงินเฟ้อในภาวะเงินฝืด” จึงไม่น่าจะเกิดขึ้น และคงไม่เกิดเพราะเงินเฟ้อและเงินฝืดอยู่ตรงข้ามกัน อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยต้องเกิดภาวะเงินฝืด รัฐบาลสามารถแก้ไขได้ โดยการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และใส่เงินเข้าไปในระบบ เชื่อว่าแนวทางนี้ จะสามารถคลี่คลายปัญหาเงินฝืดได้เป็นอย่างดี.