7 โครงการ เพิ่มมูลค่า-ขยายตลาด OTOP
กสอ. รุกพัฒนาผู้ประกอบการโอทอป ผ่าน 7 กิจกรรม ฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทยให้ดีพร้อมใน 90 วัน กว่า 1000 ราย เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คาดเพิ่มผลิตภาพในเชิงเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท
จากผลกระทบสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอทอป (OTOP) รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่อาศัยการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ แม้รัฐบาลจะมีมาตรการผ่อนปรน แต่ว่าการท่องเที่ยวก็ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรม OTOP ที่ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพากิจกรรมการท่องเที่ยว โดยมีลูกค้าเป้าหมายหลัก คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงได้หาแนวทางช่วยเหลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ผ่าน 7 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมยกระดับผู้ประกอบการ OTOP สู่ Global ด้วยการตลอดออนไลน์ e-commerce ด้วยการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำที่สอดคล้องกับการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ด้วยการตลาดดิจิทัล การขายออนไลน์ e-commerce โดย Platform ที่ได้รับความนิยม มีมาตรฐานสากล และมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP สู่ ดิจิทัล 4.0 ด้วยการสร้างความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการนำเสนอสินค้า และการบริการ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจ
กิจกรรมพัฒนาทายาทผู้ประกอบการ OTOP ด้วยการเสนอแนวคิดการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ OTOP ให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้านต่าง ๆ การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และ การสร้างและพัฒนาช่องทางการตลาดแบบ e-commerce โดยการใช้ Platform ที่เป็นสากล
กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ ที่มีอัตลักษณ์เพื่อเพิ่มมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ด้วยการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว เพื่อค้นหาและสร้างอัตลักษณ์ของตนเอง นำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบพัฒนา หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์
กิจกรรมยกระดับเสริมสร้างคุณภาพและมาตรฐานสินค้า OTOP พัฒนากระบวนการผลิตให้มีคุณภาพสอดคล้องตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ฮาลาล อย. GMP HACCP ISO
กิจกรรมพัฒนาและยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วยการอบรมเชิงลึก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการลดความสูญเปล่า (Waste) ความไม่สม่ำเสมอ (Unevenness) หรือสภาวะเกินกำลัง (Overburden) เพื่อลดต้นทุน ควบคุมคุณภาพสินค้า การเพิ่มผลิตภาพด้วยเทคโนโลยีเครื่องจักร หรือการใช้ระบบอัตโนมัติมาสนับสนุน
กิจกรรม OTOP ยั่งยืนด้วยการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก เกี่ยวกับการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ การประยุกต์ใช้ทุนความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่นให้เกิดมูลค่า การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และตลาดสีเขียว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี กสอ. ระบุว่า โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมไทยให้ดีพร้อมใน 90วัน ซึ่งมีระยะเวลา 3-6 เดือน คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้กว่า 1000 ราย และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้กว่า 500 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายการส่งเสริมครอบคลุมไปยังผู้ประกอบการ OTOP ทั่วประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพสู่การเปิดตลาดในต่างประเทศ ผ่านการขายออนไลน์ e-commerce เพื่อเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการส่งออกของภูมิภาคต่อไป