“สทบ.-ธนารักษ์” ผนึก! อุ้มกองทุนหมู่บ้าน

“หัวส่าย ตัวพลิก หางกระดิก!” สะท้อนตัวตนกองทุนหมู่บ้านยุคนี้ หลังรับ “ใบสั่ง” รองฯสมคิด ทั้ง สทบ.และกรมธนารักษ์ ขานรับอย่างไว! จากนี้…โอกาสสมาชิกกองทุนหมู่บ้านเกือบ 13 ล้านครอบครัว 40 ล้านคน จะพ่วงการใช้พื้นที่ราชพัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ เผยเตรียมขยายผลตลาดนัดชุมชนทั่วไทย และเปิดศูนย์กระจายสินค้า ย่านบางปลา สมุทรปราการ รองรับสินค้ากองทุนหมู่บ้าน ปูทางทสร้างอนาคตยั่งยืนให้เศรษฐกิจฐานราก
แรงและเร็วมาก! “ใบสั่ง” เมื่อวันศุกร์ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา…นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ปธ.กก. กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) กำชับให้ นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) เร่งหารือกับหน่วยงานพันธมิตร ตั้งแต่…กรมธนารักษ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บมจ. ปตท. ฯลฯ…

สร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าใหม่ๆ ให้กับกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 7.9 หมื่นแห่ง นำสู่เป้าหมาย…การสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย และยกระดับคุณภาพชีวิต แก่สมาชิกฯกว่า 12.9 ครัวเรือน เกือบ 40 ล้านคน…มีรายได้และพึ่งพาตนเอง
ดึงเอาศักยภาพของพันธมิตรเหล่านั้น มาร่วมด้วยช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข็มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
วันรุ่งขึ้น…นัดหมาย นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อสานต่อนโยบายข้างต้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทั่ง ได้ร่วมกันแถลงข่าวความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 1 มิ.ย. ณ สทบ. สำนักงานใหญ่ ย่าน ถ.แจ้งวัฒนะ
โดย ระยะแรก สทบ. จะเข้าไปช่วยคัดสรรสินค้าที่มีคุณภาพและหลากหลายจากกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ เข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ที่กรมธนารักษ์จัดสรรไว้ อาทิ ตลาดชุมชน ตลาดกลาง หรือศูนย์กระจายสินค้า เนื่องจากกรมธนารักษ์มีที่ดินราชพัสดุ และสถานที่รองรับการจำหน่ายสินค้าเป็นจำนวนมาก ที่อาจนำมาให้กองทุนหมู่บ้านได้เช่า หรือบริหารจัดการร่วมกัน
“สทบ.ยังมีแผนที่จะผลักดันให้ร้านค้ากองทุนหมู่บ้านเป็นสถานที่รวบรวมผลผลิตของชุมชน และกระจายไปยังตลาดกลาง เพื่อนำผลผลิตออกสู่ตลาดนอกพื้นที่ เพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพราะสินค้าในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน และเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการเข้าถึงสินค้าในราคายุติธรรม และสร้างกลไกในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง” นายรักษ์พงษ์ ระบุ
ด้าน นายยุทธนา กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้ดำเนิน โครงการเปลี่ยนชุมชนเป็นห้องประชุมในพื้นที่ราชพัสดุ พร้อมจัดสร้าง ตลาดขายสินค้าชุมชนให้กับชาวบ้านในพื้นที่และใกล้เคียง ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของ สทบ. โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการฯ มาครบทั้ง 76 จังหวัดแล้ว

หลังจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง กรมธนารักษ์จะดำเนินการขยายผลในโครงการดังกล่าวต่อไป แต่ครั้งนี้…ได้พ่วงโครงการของ สทบ.เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้กองทุนหมู่บ้านและสมาชิกกองทุนฯ ได้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าครบทั้ง 76 จังหวัด ทั้งนี้ หากจำนวนตลาดขายสินค้าไม่เพียงพอ กรมธนารักษ์พร้อมจะจัดสร้างเพิ่มเติมให้ตามความต้องการของกองทุนหมู่บ้านในพื้นที่เหล่านั้น
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ มีแผนการจะเปิดให้บริการศูนย์กระจายสินค้า บนพื้นที่กว่า 40 ไร่ รวมอาคารและสิ่งปลูกสร้างมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ย่าน ถ.สุขุมวิทสายเก่า อ.บางปลา จ.สมุทรปราการ ราวเดือน ส.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อใช้เป็นตลาดกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านผลไม้ และเปิดให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านจากทั่วประเทศ ได้นำสินค้าของตัวเองมาจัดจำหน่ายในพื้นที่แห่งนี้
“กรมธนารักษ์ มีที่ราชพัสดุ บริเวณริม ถ.สุขุมวิทสายเก่า เลยจากสถานตากอากาศบางปู อีกหลายแปลง ซึ่งศูนย์กระจายสินค้ากลุ่มผลไม้ ย่านบางปลา ถือเป็นแหล่งความเจริญแห่งใหม่ เนื่องจากอยู่ใกล้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์เรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะผู้สูงอายุแบบครบวงจรและบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ขณะเดียวกัน ก็มีแผนจะเปิดศูนย์กระจายสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น อาหารทะเลแปรรูป, แปรรูปปลาสลิด เป็นต้น ซึ่งศูนย์กระจายสินค้าฯทุกแห่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนหนึ่งมีไว้เพื่อรองรับการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้าน เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน” อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำ
ประเด็นที่ผู้สื่อข่าวสนใจ คือ ทำอย่างไรจึงจะดึงเอาเม็ดเงินจากภายนอกพื้นที่เข้ามาหล่อเลี้ยงคนในชุมชน? ซึ่ง ผู้บริหารทั้ง 2 คน ตอบตรงกันว่า…จำเป็นจะต้องส่งเสริมทำให้ศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะมีรูปลักษณ์ในแบบเดียวกันตลาดไทย รวมถึงตลาดขายสินค้าของชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมากกว่าการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะศูนย์กระจายสินค้า ย่าน ถ.สุขุมวิทสายเก่า ที่อนาคตจะกลายเป็นศูนย์กลางของสินค้าที่หลากหลายและครอบคลุมสินค้าทุกอย่างที่กองทุนหมู่บ้านผลิตได้.