แปลงที่ราชฯ เป็น สปก. หนุนเศรษฐกิจฐานราก
“กรมธนารักษ์ – สปก. – กองทุนหมู่บ้านฯ” ผนึกกำลัง ต่อยอดที่ราชพัสดุแปลงเป็น สปก. ส่งมอบให้เกษตรกรและชุมชนฐานราก ไปพร้อมกับ “องค์ความรู้และเงินทุน” หวังสร้างโอกาสใหม่แก่คนจน กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เผยเตรียมปล่อยเช่าที่ราชพัสดุ 30 ปี ให้ สปก. ตั้งเป้า “นำร่อง” ย่านอำนาจเจริญ เร็วๆ นี้
นิมิตรหมายใหม่…เมื่อ 3 ประสาน “กรมธนารักษ์ – สปก. – กองทุนหมู่บ้านฯ” จับมือประสานการทำงาน ลดบางอย่างที่เคยซ้ำซ้อนและไม่สอดประสานกัน มาเป็น “ก้าวไปด้วยกัน” พุ่งเป้าเพื่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของชุมชน และสังคมฐานราก ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน
งานนี้…เกิดขึ้นเพราะบารมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่แม้จะไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง แต่การที่ได้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มานั่งเก้าอี้ “รมช.เกษตรฯ” กำกับดูแล สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ทำให้โครงการนี้ ดูไหลลื่น
ชนิดที่ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมจะเริ่ม Kick Off ในเร็วๆ นี้ กับพื้นที่เป้าหมายใน จ.อำนาจเจริญ
“พื้นที่ในความรับผิดชอบของ สปก. ทั่วประเทศ มีมากกว่า 4 ล้านไร่ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากการซื้อหรือเช่าที่ดินในระยะยาว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ยากไร้ ที่ผ่านมาการทำงานของกรมธนารักษ์ ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน คือ เปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้เช่า ด้วยการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้กับเกษตรกร โดยหากควบรวมการทำงานไปด้วยกัน และดึงเอากองทุนหมู่บ้านเข้ามาร่วมด้วย เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และชุมชนอย่างมาก” รมช.เกษตร ระบุ และว่า
สปก. มีเงินกองทุนฯ ที่สามารถจะนำไปช่วยเหลือเกษตรกรและชุนชนฐานราก ซึ่งที่ผ่านมา ได้ช่วยเหลือเกษตรกรเป็นจำนวน ทั้งในเรื่องที่ดินทำกิน การให้ความรู้ และทุนในการทำเกษตรกรรม แต่จากนี้ไป เมื่อมีการบูรณาการทำงานร่วมกับกรมธนารักษ์และกองทุนหมู่บ้านฯแล้ว เชื่อว่า…การทำงานเพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากจะมีมิติมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังสามารถจะดึงเอาสถาบันการเงินของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น…ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ซึ่งทั้ง 2 ธนาคารก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว มาร่วมในโครงการดังกล่าวได้อีกด้วย
สอดรับกับมุมมองของ นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เนื่องจากกฎหมายใหม่ที่ประกาศออกมา เปิดทางให้กรมธนารักษ์สามารถนำที่ราชพัสดุไปให้ สปก.เช่าในระยะยาว 30 ปีได้ ซึ่งนั่นจะทำให้ “พื้นที่เป้าหมาย” ทั้งที่ได้รับคืนจากส่วนราชการที่ครอบครองที่ราชพัสดุ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือแม้แต่ที่ดินในมือของกรมธนารักษ์เอง สามารถจะนำไปเข้าร่วมโครงการที่ทำร่วมกับ สปก.และกองทุนหมู่บ้าน จนสร้างประโยชน์และโอกาสแก่คนในชุมชนเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่าง
“ความร่วมมือในวันนี้ มาจากข้อตกลงร่วมกันในการนำที่ดินของราชการมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งในระดับชุมชน และสังคม โดยมุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของชุมชน และสังคมฐานราก ทั้งนี้ เมื่อรัฐจัดสรรที่ดินของราชการ โดยสร้างประโยชน์ในที่ดินนั้น ให้แก่ประชาชนแล้ว ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย ท าการเกษตรกรรม หรือประกอบกิจการต่างๆ ในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะเป็นส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมมีชีวิตความ เป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐได้อีกทางหนึ่งด้วย” อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำ
ขณะที่ “มือประสานสิบทิศ” อย่าง นายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ กก.ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ย้ำว่า กองทุนหมู่บ้าน ถือเป็นแหล่งเงินทุนของกองทุนหมู่บ้าฯ เป้าหมายเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ตลอดจนการส่งเสริม และสนับสนุนการพึ่งพาตนเองของหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมแก่หมู่บ้าน/ชุมชน โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรมในทุกๆ อยู่แล้ว
ดังนั้น เมื่อโครงการความร่วมมือระหว่าง “กรมธนารักษ์ – สปก. – กองทุนหมู่บ้านฯ” เกิดขึ้นมา ตนในฐานะ
ตัวแทนของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ก็พร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนแนวทงการทำงานอย่างเต็มที่.
น่าสนใจกับแนวคิดของ 3 องค์กรที่มีเป้าหมายจะส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับกลุ่มคนและชุมชนในระดับฐานราก ที่มีกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทย คงต้องจับตาดูต่อไปว่า กับโครงการนำร่องที่จะเริ่มในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ เช่นที่ ร.อ.ธรรมมนัส บอกไว้…
ที่สุดแล้ว จะแตกต่างไปจากโครงการที่แล้วๆ มาอย่างไร?
จะเดินไปได้ดีกับโครงการที่ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ซึ่งได้นำร่องดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว…แค่ไหน? อีกไม่นานคงได้รู้กัน!!!.