ส่งออกเดือนต.ค.ทรุดติดลบ4.2%
กระทรวงพาณิชย์ มึนส่งออกเดือนต.ค.59 ติดลบ -4.2% ส่งผลให้ 10 เดือนของปีนี้ มียอดรวมติดลบ -1.0% รอลุ้น 2 เดือนที่เหลือเป็นบวก
“ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกของเราหดตัว 1.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่าการส่งออกของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยการส่งออกโลกเฉลี่ยในข่วง 10 เดือนแรกของปีนี้หดตัวถึง 4.1% ” น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าไทย แถลงข่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา และกล่าวต่อว่า
แม้การส่งออกในเดือนต.ค.59 จะมีมูลค่าการส่งออกหดตัว -4.2% สวนทางจากที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง (เดือนก.ย.และเดือนต.ค.ยอดส่งออกของไทยเป็นบวกติดต่อกัน) ที่ประมาณ 1.14-1.40% โดยมีมูลค่า 17,783 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,535 ล้านเหรีญสหรัฐฯ ขยายตัว 6.5% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 248 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขณะที่การส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 59 (ม.ค.-ต.ค.59) มีมูลค่า 178,251 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -1.0% และการนำเข้ามีมูลค่า 160,073 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว -5.9% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 18,178 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่แม้จะมีสัญญาณบวกที่ดีจากการจ้างงานและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ขณะที่ญี่ปุ่นนั้นเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงซบเซา และสหภาพยุโรปที่ยังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและลาตินอเมริกาที่กำลังซื้อชะลอตัวจากผลของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน ส่งผลให้การส่งออกไทยในเดือนต.ค.59 หดตัวที่ 4.2%
ทั้งนี้ เป็นการลดลงของทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและเกษตรสำคัญ การลดลงของสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะรถยนต์และส่วนประกอบ ทองคำ และเหล็ก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานมูลค่าการส่งออกที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลดลงของสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะ น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นผลจากการลดลงของปริมาณเป็นสำคัญ
” สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวลดลง คือ กลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ติดลบ 2.0% เป็นผลมาจากการส่งออกไปตลาดออสเตรเลียและตะวันออกกลางลดลง โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่กำลังซื้อหดตัวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ซึ่งกระทรวงฯ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหากลยุทธส่งออกตะวันออกกลางต่อไป “ น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว และระบุว่า
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลก โดยส่วนแบ่งตลาดของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นในเกือบทุกตลาดและการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น จีน เอเชียใต้ และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
“ ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ยอดส่งออกหดตัว 1.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์การส่งออกของโลก พบว่าการส่งออกของไทยอยู่ในสถานะที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยการส่งออกโลกเฉลี่ยในข่วง 10 เดือนแรกของปีนี้หดตัวถึง 4.1% ”
ด้านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือน ต.ค.59 แม้ยังหดตัวต่อเนื่อง แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือน ต.ค.59 หดตัว 1.8% เทียบกับการหดตัว 2.7% ในเดือน ก.ย.59 โดยการค้าชายแดน (ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) มีมูลค่า 85,240 ล้านบาท (ลดลง 3.4%) ในขณะที่การค้าผ่านแดน (สิงคโปร์ จีนตอนใต้ เวียดนาม) มีมูลค่า 16,669 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.9%) รวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 101,909 ล้านบาท (ลดลง 1.8%)
รวม 10 เดือนแรก การค้าชายแดนมีมูลค่า 834,778 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 0.5%) เกินดุล 159,751 ล้านบาท การค้าผ่านแดนมีมูลค่า 152,847 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.8%) ขาดดุล 15,537 ล้านบาท รวมการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนมีมูลค่าทั้งสิ้น 987,626 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1.4%) เกินดุลทั้งสิ้น 144,213 ล้านบาท
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 เดือนสุดท้าย โดยมีปัจจัยสำคัญจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญน่าจะผ่านจุดต่ำสุดของปีนี้ไปแล้ว และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะ ราคายางพาราและน้ำตาลทรายโลก
นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันน่าจะเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในช่วง พ.ย.-ธ.ค. 59 ที่น่าจะสูงกว่าปีก่อน (มีความเป็นไปได้สูงที่กลุ่มโอเปกจะบรรลุข้อตกลงเรื่องการปรับลดกำลังการผลิต ในการประชุมวันที่ 30 พ.ย.นี้ ขณะที่รัสเซียมีแนวโน้มคงกำลังการผลิต), ค่าเงินบาทอ่อนลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้, ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนอย่างชัดเจน และ ตลาด CLMV ยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะ อัญมณี และเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันที่ยังช้ากว่าที่คาด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้มูลค่าการค้าโลกขยายตัวได้ดีในระดับที่เคยเป็นในอดีต,ความกังวลจากความไม่ชัดเจนของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการค้าโลกในระยะต่อไป และค่าเงินประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทั้งยูโร และจีน อ่อนค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าว
” หากในช่วง 2 เดือนที่เหลือ การส่งออกมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 18,000 ล้านเหรียญฯ จะทำให้ทั้งปีขยายตัวได้ 0% เท่ากับปี 58 หรือมีมูลค่าราว 214,000 ล้านเหรียญฯ หากเฉลี่ยเดือนละ 17,700 ล้านเหรียญฯ ทั้งปี 59 จะติดลบ 0.30% หากได้เฉลี่ยเดือนละ 17,100 ล้านเหรียญฯ ทั้งปี 59 จะติดลบ 0.86% แต่หากได้มากถึงเดือนละ 18,400 ล้านเหรียญฯ ทั้งปีจะขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 0.3% อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงคาดการณ์ว่าทั้งปี 59 จะยังไม่ติดลบ โดยอยู่ในระดับ 0% ถึงบวกเล็กน้อย “ น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวในที่สุด