หวั่นปมเหลื่อมล้ำอุ้มโลว์คอสท์ฯ เหตุมีต้นทุนน้ำมันต่ำ
สรรพสามิต แฉ! ต้นทุนน้ำมันของโลว์คอสท์ แอร์ไลน์ ต่ำกว่าภาคธุรกิจขนส่งทั่วไป 3-4 เท่าตัว ห่วงสุดหากต้องลดภาษีสรรพสามิตอุ้มผู้ประกอบการกลุ่มนี้ หวั่นเพิ่มปมปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความไม่เป็นธรรมแก่ธุรกิจที่ต้องใช้น้ำมันสำเร็จรูปทั่วไป
กรณี 5 ผู้ประกอบการสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสท์ แอร์ไลน์) ประกอบด้วย ไทยแอร์เอเชีย, ไทยอ้อนแอร์, นกแอร์, เวียตเจ็ต, และบางกอกแอร์เวย์ นำโดย นายทรรศพลฐ์ เวเร็ลด์ ปธ.กก.บห. บริษัท ไทยแอร์ เอเชีย จำกัด ได้เข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง ผ่าน นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผช.รมต.ประจำนายกรัฐมนตรี (ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง) เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ หลังได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ใช้บริการลดลงและการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
เบื้องต้นได้ข้อสรุป 2 แนวทาง คือ 1.ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง จากราคาปัจจุบัน 4.726 บาท/ลิตร ส่วนจะลดลงมาอยู่ที่อัตราใด ขึ้นกับการพิจารณาของกระทรวงการคลัง โดยกำหนดระยะเวลาผ่อนปรน จนกว่าผู้ประกอบการจะเข้มแข็ง และ 2.กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแบบขั้นบันไดตามระยะเวลา และค่าเงินบาทจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ ขณะนั้น
ล่าสุด วานนี้ (14) นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการ เบื้องต้นทราบแต่เพียงว่าผู้ประกอบการส่วนนี้ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตนได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพสามิต และมอบหมายให้ไปดูข้อมูลและข้อเท็จจริง รวมถึงหารือกับตัวแทนผู้ประกอบการฯ ซึ่งตามตามหลักการแล้ว เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ภาคธุรกิจทุกกลุ่มทั้งระบบที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจโดยเร็ว และเร่งด่วนหาดเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ แต่สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโลว์คอสท์ แอร์ไลน์นั้น คงต้องให้กรมสรรพสามิตไปหารือถึงความเหมาะสม ที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการขนส่งอื่นๆ และไม่ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหาย ทั้งนี้ ตนยังตอบไม่ได้ว่าภาครัฐจำเป็นจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้หรือไม่ จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้หารือถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเสียก่อน
ด้าน นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่าเบื้องต้น รมว.คลัง ได้สอบถามถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว ประเด็นคือ หากกรมสรรพสามิตลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง Jet A-1 ให้แก่ผู้ประกอบการโลว์คอสท์ แอร์ไลน์แล้วราคาค่าตั๋วโดยสารจะประบลดลงมาหรือไม่? และลดเท่าไหร่? ที่สำคัญเมื่อลดอัตราภาษีสรรพสามิตดังกล่าวให้กับภาคธุรกิจโลว์คอสท์ แอร์ไลน์แล้ว กรมฯจะลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กับผู้ประกอบการรถขนส่งอื่นๆ เพื่อความเป็นธรรมและไม่สร้างปัความเหลื่อมล้ำด้วยหรือไม่?
ทั้งนี้ โครงสร้างการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง Jet A-1 มีเพียงแค่อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7% เท่านั้น ขณะที่โครงสร้างการจัดเก็บภาษีน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไปจะมีมากกว่า เพราะนอกจากอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังมีการจัดเก็บภาษีมหาดไทย (ภาษีเทศบาล) รวมถึงเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งทำให้การเสียภาษีสรรพสามิตของน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไป มีราคาแพงกว่าภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน 3-4 เท่าเลยทีเดียว
สำหรับภาพรวมการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะอยู่ที่กว่า 2 แสนล้านบาท หรือราว 35% ของรายได้ภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บในแต่ละปี ขณะที่รายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งทางอากาศ (เครื่องบิน) มีราว 3,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากท่าทีของกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ที่จะต้องพิจารณาปัจจัยและองค์ประกอบอื่นๆ อย่างรอบด้าน ควบคู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริง และประเด็นปัญหาของผู้ประกอบการโลว์คอสท์ แอร์ไลน์ เทียบกับผู้ประกอบการขนส่งทั่วไปแล้ว โอกาสที่การช่วยเหลือหรือบรรเทาปัญหาข้างต้นให้แก่ผู้ประกอบการโลว์คอสท์ แอร์ไลน์ อาจเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง Jet A-1 ต่ำกว่าต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไปมาก อีกทั้ง ภาครัฐยังรู้สึกกังวลใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่จะมีตามมาอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโลว์คอสท์ แอร์ไลน์ ต้องหยุดดำเนินการกิจการ หรือลดไซส์ธุรกิจ กระทั่งต้องลดเที่ยวบินลง หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทางการบินไทยและสายการบินในเครือก็พร้อมจะเพิ่มเที่ยวบินเข้ามาทดแทนเส้นทางการบินของโลว์คอสท์ แอร์ไลน์เหล่านั้น โดยเป็นคำยืนยันจากผู้บริหารของการบินไทยก่อนหน้านี้
อนึ่ง ปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง Jet A-1 อยู่ที่ 4.726 บาท/ลิตร ขณะที่อัตราภาษีน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไปอยู่ที่ 5-6 บาท/ลิตร ขึ้นกับชนิดและประเภทของน้ำมัน ทั้งนี้ หากรวมภาระภาษีอื่นๆ และเงินเรียกเก็บเข้ากองทุนอีก 2 กองทุนแล้ว จะทำให้ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปทั่วไปสูงถึงมากกว่า 10 บาท/ลิตร.