เอกชนชี้ไทยซบจีนแทนสหรัฐฯ
เอกชนมั่นใจไทยได้ประโยชน์จาก “ ทรัมป์ ” ถอนตัวจากทีพีพี แต่ในระยะยาวหวั่นอาจเดินทางเกมสหรัฐฯ ไม่ทัน ด้านกรมเจรจาการค้าระบุ ไทยควรชิงโอกาสเจรจาอาร์เซพให้จบโดยเร็ว
“ การที่สหรัฐฯ มีท่าทีชัดเจนที่จะยกเลิกข้อตกลงทีพีพี มีทั้งข้อดีข้อเสีย โดยข้อดีคือ หากยกเลิกจริง ถือว่าไทยได้ประโยชน์ เพราะการที่ไทยไม่ได้เข้าร่วมทีพีพี ทำให้ไทยเสียประโยชน์มากกว่า โดยเฉพาะเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในอาเซียน ที่เป็นสมาชิกทีพีพีไปแล้ว อย่างไรก็ตาม น่าจะเห็นจีน จะพยายามเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนที่สหรัฐฯ ” นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าว ถึงกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี)
ส่วนข้อเสียคือ อาจทำให้ผู้ประกอบการเพิกเฉย หรือขาดแรงกระตุ้นในการปรับมาตรฐานด้านการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานที่สูงขึ้น ตามเงื่อนไขในทีพีพี และในระยะสั้น คิดว่า นายทรัมป์คงจะเลือกเจรจาแบบทวิภาคีมากขึ้นกับประเทศที่สหรัฐฯ เสียดุลการค้าอย่างเข้มข้น ทั้งจีน และไทย เพื่อให้เกิดความสมดุลทางการค้ามากขึ้น
“ อยากให้รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนจะเข้าร่วมทีพีพีหรือไม่ และเตรียมพร้อมรับกับการเจรจา หากทีพีพีไม่ล้ม ไม่ควรรอจนไม่มีจุดยืน เพราะจะทำให้เราช้า และเสียเปรียบ ตอนนี้เอกชนยังได้เปรียบเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้ แต่หากไม่ปรับตัวในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้าอาจเสียตลาดสหรัฐฯ ไป ”
แต่ในขณะนี้ ตนเชื่อมั่นไทยยังมีเวลาเตรียมตัวและต้องแสดงความเป็นผู้นำในอาเซียน และต้องให้ความสำคัญกับทุกประเทศ อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศก็ควรทำเป็น Fair Trade Area ไม่ใช้ Free Trade Area อย่างเดียว เพราะทุกคนอยากปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ ก็ยังไม่นัดหารือกันเลย น่าห่วงมากยุทธศาสตร์การค้าของไทยที่ยังไม่มีชัดเจนเลย และเป็นห่วงว่าไทยจะตามเกมสหรัฐฯ ได้ทันในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ด้านนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ ถ้าไม่มีสหรัฐฯ ในเจรจาทีพีพีแล้ว จะทำให้หลายๆ ประเทศสนใจอาร์เซพมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ จะมีผลดีกับไทยในแง่การลดแรงกดดันที่จะต้องตัดสินใจว่า จะเข้าร่วมการเป็นสมาชิกทีพีพีหรือไม่ และจะทำให้ไทยมีเวลาปรับตัวมากขึ้น ”
แรงกดดันของประเทศที่เคยได้เปรียบไทยจากการได้ลงนามทีพีพีไปแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และอีกหลายๆ ประเทศ ก็จะหันมาสนใจเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาค (อาร์เซพ) ที่อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจากับ 6 ประเทศคู่เจรจาคือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มากขึ้น ซึ่งหากไม่มีทีพีพีแล้ว น่าจะส่งผลให้มีการเร่งสรุปความตกลงอาร์เซพได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะจีน
นางสาวสุนันทา กล่าวว่า ไม่ว่าข้อตกลงทีพีพีจะเกิดขึ้นหรือไม่ ผู้ประกอบการไทยคงหนีไม่พ้นการปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ทันกับแนวโน้มการค้าของโลกที่มุ่งไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานในด้านต่างๆ ที่สูงขึ้น ส่วนการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะกลับมาปกป้องการค้าและเน้นการเจรจาทวิภาคีมากขึ้น นั้น มองว่านายทรัมป์มาจากนักธุรกิจ น่าจะมีมุมมองในการเจรจาว่าหากอะไรที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากกว่า ก็จะเปิดเจรจา แต่หากสหรัฐฯ เสียประโยชน์ก็จะยกเลิกเช่นที่เกิดกับกรณีของทีพีพี
สำหรับไทย และสหรัฐฯ จะมีเวทีเจรจาระดับทวิภาคีอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรก ของปีหน้าในกรอบความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐฯ ซึ่งไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการขยายการค้าการลงทุน และแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างกัน.