คลังเปิด 3 โปรเจกต์บล็อกเชน ชี้คืนภาษีนักเที่ยว 28 พ.ย.นี้
“อุตตม” ดึง 4 หน่วยงานสังกัดคลังผนึกแบงก์กรุงไทย นำเทคโนโลยีบล็อกเชน ยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพระบบงาน เผยนำร่อง 3 โครงการเด่น “คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว – จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ – ออมผ่านพันธบัตรอิเล็กทรอนิกส์” พร้อม หนุนคนไทยเข้าถึงการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยืนยันบล็อกเชนช่วยลดขั้นตอน รวดเร็ว ปลอดภัย โปร่งใส และตรวจสอบได้
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวภายหลังการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ว่า มี 3 โครงการที่นำร่องใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน คือ โครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว (VAT Refunds for Tourists) เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมสรรพากร กรมศุลกากร และธนาคารกรุงไทย โครงการระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Government Procurement : e-GP) ของกรมบัญชีกลาง และโครงการ การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (DLT Scripless Bond) ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการ Execution ที่จะนำกระทรวงการคลัง ไปสู่ Digital Platform อย่างเต็มรูปแบบ
น.ส.ขนิษฐา สหเมธาพัฒน์ ที่ปรึกษากรมสรรพากร กล่าวว่า โครงการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว โดยนำระบบบล็อกเชนมาใช้ผ่าน Mobile Application ที่ชื่อ Refunds จะช่วยลดภาระของนักท่องเที่ยวและกรมสรรพากร ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวที่มาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ปีละไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน ยอดมูลค่าการซื้อสินค้าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 2 แสนรายต่อเดือน โดยจากสถิติพบว่า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนร้อยละ 70 ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องปรับตัวเองให้ทันต่อการเปบี่ยนยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใส มีความปลอดภัยสูง ปลอมแปลงได้ยาก และสามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการของภาครัฐ ช่วยลดเรื่องการตรวจเอกสาร ลดการใช้กระดาษได้สูงสุด 10 ล้านใบต่อปี ลดต้นทุนในการจัดการ ลดความหนาแน่นของคิวที่สนามบิน ลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสด และสามารถคัดแบบข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกได้ทันที จากเดิมใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เหล่านี้ล้วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวของประเทศ การกระจายรายได้ไปยังผู้ประกอบการรายย่อย การสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งขณะนี้โครงการได้ผ่านการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบเรียบร้อยแล้ว และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ซึ่งจะได้ทำการโอนเงินผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต และโมบายแอปพลิเชั่น เช่น อาลีเพย์ ต่อไป
ด้านนายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย คือ 1) e-LG การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ประกอบการในระบบ e-GP ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและการตรวจสอบหลักประกันของผู้ประกอบการ และสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของหลักประกันที่นำมาใช้ โดยผู้ประกอบการสามารถขอ e-LG จากทุกธนาคารและผ่านระบบบล็อกเชนที่พัฒนา และ 2) e-Credit Confirmation โดยบล็อกเชนของ e-GP มีการรวบรวมข้อมูลประวัติของผู้ประกอบการนิติบุคคล รวมถึงระบบ Rating ของผู้ประกอบการตามผลงานในการทำงานกับภาครัฐ สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการลดระยะเวลา และภาระของผู้ประกอบการในการจัดเตรียมเอกสาร เพื่อขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการและการยื่นเสนอราคา
ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 62 พบว่า ภาครัฐมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 3.6 ล้านโครงการ วงเงินรวมกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการกว่า 270,000 ราย ซึ่งการนำบล็อกเชนมาใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใสของระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ผลักดันการใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่รากหญ้าให้เร็วที่สุด
นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับระบบของสถาบันการเงิน และระบบการประเมินคุณภาพแบบบูรณาการของผู้ประกอบการที่ร่วมงานกับภาครัฐได้อีกด้วย โดยในเดือนธันวาคม 2562 ผู้ประกอบการสามารถขอหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ( e-Credit Confirmation ) ของธนาคารกรุงไทยผ่านระบบ e–GP ได้ทันที โดยธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถให้บริการดังกล่าวได้
ขณะที่ นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผอ.สำนักหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า การออมผ่านพันธบัตรรัฐบาล ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยให้การออกพันธบัตรรัฐบาล การจำหน่าย รวมถึงการรับฝากหลักทรัพย์ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาชนทุกระดับชั้นสามารถเข้าถึงการออมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวทั้งในตลาดแรกและขยายตัวสู่ตลาดรองในอนาคต เสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยระบบจองก่อนได้ก่อน (First Come First Serve) ในการจัดจำหน่าย และช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการต่างๆ ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ระบบบล็อกเชน ยังช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการจองซื้อพันธบัตร เพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุนของตนเอง และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยลดระยะเวลาในกระบวนการออกใบพันธบัตรทั้งหมด จากเดิม 15 วันเหลือไม่ถึง 2 วัน โดยรัฐบาลจะเริ่มออกพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาลมูลค่า 5,000 ล้านบาทผ่านระบบบล็อกเชนในช่วงเดือน เม.ย.63
ส่วนนายผยง ศรีวนิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยเข้าไปมีส่วนร่วมกับ 3 โครงการดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดจากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล และเป็นการลงทุนด้านเทคโนโลยีตามแผนเดิมของธนาคารฯอยู่แล้ว โดยแต่ละโครงการจะมีหน่วยงานเจ้าของโครงการฯคอยดูแลระบบบล็อกเชนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับการรับและชำระเงินผ่านระบบอีเพย์เม้นท์ ตามเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอีกด้วย.