ธ.ก.ส.อัดเงิน 4.8 แสน ล.หนุนเกษตรกร-เศรษฐกิจไทย
53 ปี ธ.ก.ส. รุกเดินหน้าเพื่อเกษตรกรและระบบเศรษฐกิจไทย อัดฉีดเม็ดเงินกว่า 4.8 แสนล้านบาท หนุนทั้งโครงการตามนโยบายรัฐบาลและโครงการ Go Green ของตัวเอง คาดยอดทวีคูณ 2.5 เท่า ดันจีดีพีปี 63 กระเตื้องขึ้น
กิจกรรมฉลองครบ 53 ปี…ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ย.62) ถือเป็นวาระพิเศษสำหรับพวกเขา กระนั้นบนภารกิจที่จะมีตามมา ทั้งในส่วนของเนื้องานตามนโยบายของ ธ.ก.ส.เอง หรืองานในส่วนที่จะต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล ล้วนส่งผลและมีนัยสำคัญต่อตัวลูกค้า กลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มสถาบันการเกษตรฯ รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ล่าสุด นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้ดำเนินโครงการตามนโยบายในส่วนของธนาคารฯ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานประจำปี 2563 (1 เม.ย.62 – 31 มี.ค. 63) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายระยะสั้น โดยในส่วนโครงการตามนโยบายของธนาคารฯ ได้จัดเตรียมงบประมาณราว 400,000 ล้านบาท เพื่อนำมาปล่อยเชื่อให้กับลูกค้า ทั้งในกลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนเกือบร้อยละ 50 ที่เหลืออีกกว่าร้อยละ 50 เป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มองค์กรเกษตรฯ ซึ่งทั้งหมดถือเป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านนโยบาย Go Green ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ มาก่อนหน้านี้เแล้ว
ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ทำการผลิตเกษตรปลอดภัย (GAP) จำนวน 774 ราย พื้นที่ 3,649 ไร่ เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองการผลิตแบบมีส่วนร่วม (PGS) จำนวน 2,569 ราย พื้นที่ 12,804 ไร่ และเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand หรือ IFOAM และมาตรฐานอื่น ๆ จำนวน 1,494 ราย พื้นที่ 5,736 ไร่ รวมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยทั้งสิ้น จำนวน 4,837 ราย พื้นที่ 22,189 ไร่
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ขับเคลื่อนการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์สู่วงกว้าง ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ การรับรองมาตรฐาน GAP การรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) และมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย Earth Safe Standard เป็นต้น เพื่อส่งผลผลิตให้กับ Modern Trade โดยมีแผนเชื่อมโยงชุมชน 9 แห่ง ในการผลิต
ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นนโยบายระยะสั้น ธนาคารฯได้จัดเตรียมงบประมาณเอาไว้กว่า 80,000 ล้านบาท โดยดำเนินการผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด ปัจจุบัน ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท 2.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 62-63 วงเงิน 13,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.62 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท
3.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 62/63 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท
และ 4.โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยางรวมกว่า จำนวน 1.7 ล้านราย ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณกว่า 23,472 ล้านบาท เริ่มดำเนินการโอนเงินได้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้
“เชื่อว่าเม็ดเงินทั้ง 2 ส่วน ที่มีมูลค่ารวมกว่า 480,000 ล้านบาทนั้น เมื่อนำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดอัตราทวีคูณจากการใช้จ่ายราว 2.5 เท่า ทำให้เกิดเม็ดเง นหมุนเวียนในระบบไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 63 อย่างมาก” ผจก. ธ.ก.ส.กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนขอปี 62 (1 เม.ย. 62 – 31 ต.ค.62 นั้น ธ.ก.ส.มีกำไรประมาณ 4,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกำไรอยู่ที่ 4,456 ล้านบาท.