กรมศุลฯบีบ“รายใหญ่-แบงก์”จ่ายภาษี Bill Payment
กรมศุลฯงัดไม้เด็ด! บีบรายใหญ่ร่วมชำระภาษีผ่าน Bill Payment หลังพบสัดส่วนยอดจ่ายผ่านแคชเชียร์เช็คสูงถึงกว่า 40% คิดเป็นเงินเกือบ “5 แสนล้านบาท” ระบุ ช่วยลดเวลาและต้นทุนดำเนินงานไปมากถึงปีละกว่า 280 ล้านบาท ลั่นได้เห็น “สังคมไร้เงินสด” ที่กรมศุลฯครบ 100% แน่! นัดหมาย “6 พ.ย.นี้” ดึงทุกฝ่ายร่วมเสวนา Bill Payment ครบวงจร
นายชัยยุทธ์ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลการ และ โฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงการเปิดใช้ระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิสก์ผ่านธนาคารหรือตัวแทนรับชำระ (ระบบ Bill Payment) ว่า หลังจากกรมศุลกากรเปิดรับชำระผ่านระบบดังกล่าวตลอดช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 334.37 บาทต่อ 1 ใบขอสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท โดยมีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองจำนวน 1,848,947 ฉบับ หรือร้อยละ 99.93 ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิสก์ทั้งหมด
สำหรับระบบ Bill Payment มีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการรวม 6 ธนาคาร และอีก 2 จุดรับชำระ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และห้างบิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต และเคาท์เตอร์ เซอร์วิส (ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น) ซึ่งจะมีส่วนร่วมสร้างสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้มีการการเบิกจ่ายและการรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิสก์อย่างเต็มประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการสามารถชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการกับกรมศุลกากรทุกที่ทุกเวลาทั่วประเทศ โดยผู้รับชำระอากรสามารถใช้ใบขนสินค้า ที่มี QR Code Barcode หรือเลขอ้างอิง ไปชำระผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ได้แก่ อินเตอร์เน็ท แบงก์กิ้ง, โมบาย แบงก์กิ้ง, เอทีเอ็ม, การชำระผ่านเคาเตอร์ของธนาคาร รวมทั้งการชำระผ่านตัวแทนรับชำระ (Non Bank) โดยผู้ประกอบยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตัวเอง ผ่านระบบ e-tracking ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้เช็คธนาคารและการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการกับกรมศุลกากร
โฆษกกรมศุลย้ำว่า เพื่อขยายผลโครงการระบบ Bill Payment กรมศุลกากรจะจัดเสวนาการให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางธนาคารและจุดรับชำระในวันที่ 6 พ.ย.ที่จะถึงนี้ ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต โดยเชิญผู้ประกอบ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสมาคม สมาพันธ์ และหอการค้าต่างๆ สมาชิกพันธมิตรศุลกากร เข้าร่วมงานเสวนาข้างต้น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในระบบ Bill Payment ทำให้ผู้ประกอบการได้เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการชำระผ่านระบบดังกล่าว ที่จะช่วยในเรื่องการประหยัดเวลาและต้นทุนการดำเนินงาน
“คาดว่าจะมีผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ประมาณ 300 คน พร้อมกันนี้ กรมศุลกากรยังจะเชิญธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ 6 ธนาคารซึ่งเข้าร่วมโครงการฯมาก่อนหน้านี้ ได้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ด้วย โดยคาดหวังว่าจากนี้ไป จะมีธนาคารอื่นๆ ได้เข้าร่วมโครงการฯ เนื่องจากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใหญ่อีกเป็นจำนวน ที่ไม่ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment แต่ยังคงชำระผ่านระบบแคชเชียร์เช็ค กับธนาคารเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯกับกรุมศุลกากร เพื่อทำให้เป้าหมายการเข้าสู่ภาวะสังคมไร้เงินสดเต็ม 100% ในเร็วๆ นี้” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ
ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ เลขานุการกรมศุลกากร และรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหญ่มากถึงกว่าร้อยละ 40 ที่ยังคงชำระเงินค่าภาษีอากรด้วยระบบแคชเชียร์เช็ค รวมถึงบางกลุ่มอีกเกือบร้อยละ 2 ที่ชำระด้วยเงินสด และยังไม่นับรวมการชำระฯผ่านบัตรภาษี (3 กรมภาษี) ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลัง ต้องการสร้างแรงจูงใจในการชำระค่าภาษีของกรมภาษีทั้ง 3 กรม ทั้งนี้ หากรวมทุกกลุ่มที่ยังไม่ได้ชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment แล้ว มีมากถึงร้อยละ 45 หรือคิดเป็นวงเงินรวมแต่ละปีมากเกือบ 5 แสนล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มนี้ ผูกบัญชีอยู่กับธนาคารที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯกับกรมศุลกากร จึงจำเป็นจะต้องเชิญชวนทั้งผู้ประกอบการและธนาคารเหล่านั้น ได้เข้าร่วมโครงการชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านระบบ Bill Payment กับกรมศุลกากร ในงานเสวนาที่จะถึงนี้
“กรมศุลกากรพยายามจะทำทุกวิถีทางเพื่อดึงให้ผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มนี้ ซึ่งแต่ละปีจะมีการชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านระบบแคชเชียร์เช็ค คราวละตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป กระทั้งถึงกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท ได้เข้าร่วมโครงการฯ รวมถึงดึงธนาคารอื่นๆ ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย ทั้งนี้ หากธนาคารเหล่านี้ ยังไม่แสดงความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ กรมศุลกากรก็จะสร้างแรงจูงใจ “ลดแลกแจกแถม” เพื่อดึงเอาผู้ประกอบการรายใหญ่กลุ่มนี้ เปลี่ยนจากการใช้ แคชเชียร์เช็ค ของธนาคารที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ มาเป็นการใช้ผ่านระบบ Bill Payment ของทั้ง 6 ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการฯไปแล้ว ซึ่งขณะนี้ มีหลายธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารต่างชาติ อาทิ ซิตี้ แบงก์, แบงก์ ออฟ ไชน่า และอื่นๆ ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯแล้ว” เลขานุการ กรมศุลกากรย้ำ.