น้ำเค็มทะลักเข้าพื้นที่ 12 จังหวัด
กรมส่งเสริมการเกษตรฯ ระบุ น้ำเค็มทะลักเข้าสู่พื้นที่เกษตรแล้ว 12 จังหวัด หลังปริมาณน้ำจืดน้อย แต่น้ำทะเลหนุนสูง หวั่นพืชสวน 3 ชนิด กล้วยไม้ ส้มและฝรั่ง ไม่เจริญเติบโต รีบประชาสัมพันธ์ขอให้เกษตรกรงดสูบน้ำ พร้อมส่งรถบรรทุกน้ำจืดเข้าช่วยเหลือ แต่ยังมีพื้นที่เสี่ยงน้ำเค็มทะลักอีก 187 ตำบล
“ล่าสุดจากการตรวจวัดของเรา พบว่าเริ่มมีน้ำเค็มไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตรแล้วรวมทั้งหมด 12 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแถบปากแม่น้ำใน 4 ลุ่มน้ำสำคัญ ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำบางปะกง ทั้งนี้มีอำเภอที่คาดว่าจะเสี่ยงภัยต่อน้ำเค็ม จำนวน 40 อำเภอ 187 ตำบล เป็นพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 173,888 ไร่” นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนสาเหตุที่น้ำเค็มทะลักเข้าสู่พื้นที่เกษตรกร เนื่องจากน้ำในเขื่อนซึ่งเป็นต้นทุนของน้ำจืดด้านการเกษตรลดลง ขณะที่น้ำทะเลก็หนุนสูงมาก จนทำให้น้ำเค็มไหลเข้าสู่แม่น้ำหลายแห่งในพื้นที่ทำการเกษตร
นายโอฬาร กล่าวว่า “จากการสำรวจสภาพน้ำเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 59 พบว่า มี 3 พื้นที่ที่มีค่าความเค็มสูงสุด ได้แก่ ประตูระบายน้ำท่าไข่ ลุ่มน้ำแม่บางปะกง มีค่าความเค็มสูงถึง19.73 กรัมต่อลิตร รองลงมาคือที่จุดตรวจวัดประตูระบายน้ำสะพานบางขนาก มีค่าความเค็มสูงถึง 9.4 กรัมต่อลิตร ในขณะที่ค่าความเค็มประตูระบายน้ำกระทุ่มแบน มีค่าความเค็มอยู่ในลำดับที่ 3 เท่ากับ 8.60 กรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าความเค็มที่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่พืชสวน เช่น กล้วยไม้ ส้ม ฝรั่ง เป็นต้น ทำให้ต้นไม้เหล่านี้ ไม่สามารถเจริญเติบโตได้”
และล่าสุด กรมฯ ได้ขอให้เจ้าของสวนกล้วยไม้งดสูบน้ำ เช่น จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประสานสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ได้ประสานงานและส่งรถบรรทุกน้ำสนับสนุน จำนวน 2 คัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรสวนกล้วยไม้อำเภอกระทุมแบน 47 ราย และจังหวัดสมุทรสาครได้ประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 และที่จังหวัดประจวบศีรีขันธ์ ขอรถบรรทุกน้ำขนาด 6,000 ลิตร จำนวน 2 คันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกรสวนกล้วยไม้ นอกจากนี้ยังเร่งระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ผ่านคลองท่าบางสารปลาอย่างต่อเนื่อง ในอัตราเฉลี่ย 34.29 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที
นอกจากนี้กรมส่งเสริมการเกษตรจะประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เรื่องการป้องกันแก้ไขน้ำเค็มใน 187 ตำบล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกษตรกรรู้วิธีการรับมือด้วยตนเอง และจากความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานภาคีที่ช่วย กันแก้ปัญหาน้ำเค็ม ส่งผลให้เกิดชุมชนต้นแบบในการบริหารจัดการน้ำเค็มในพื้นที่เกษตร เช่น ชุมชนตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี จึงได้เตรียมการตั้งแต่เดือนต.ค.– พ.ย.58
โดยชุมชนมีการใช้เครื่องมือเพื่อวัดค่าความเค็มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยกำหนดเวลาและระดับความลึกของน้ำที่วัดให้เป็นไปตามมาตรฐานและกระจายข่าวผ่านระบบสมาร์ทโฟนเพื่อให้ทุกคนได้รับทราบค่าความเค็ม ช่วงเกิดภัยดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์น้ำความเค็มอย่างใกล้ชิด วันละ 2 – 3 ครั้ง จากกรมชลประทาน
2.เมื่อถึงขั้นวิกฤตแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่สามารถใช้ได้ เกษตรกรจะขอบริการรถบรรทุกน้ำออกให้บริการตามสวน ผ่านสหกรณ์ผู้ประกอบการกล้วยไม้ไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประสานและหน่วยงานที่รับผิดชอบ
และ3.เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ใช้สปริงเกอร์หรือระบบพ่นหมอกให้น้ำพืชแทนการใช้สายยางรดน้ำ เพื่อประหยัดน้ำจืด.