ผุดเขตเศรษฐกิจพิเศษจ.สระแก้ว
ธนารักษ์จับมือ กนอ.ผุดนิคมฯ ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นแห่งแรกที่จังหวัดสระแก้ว มั่นใจเกิดแน่ปี2556 ย้ำจังหวัดตากเป็นแห่งที่สอง ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสงขลาเกิดยากเพราะประชาชนในพื้นที่ต่อต้าน
“จังหวัดสระแก้วจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกตามนโยบายของรัฐบาล จากทั้งหมด 6 เขต ประกอบด้วย 1.จังหวัดสระแก้ว 2.จังหวัดตาก 3.จังหวัดมุกดาหาร 4.จังหวัดตราด 5.จังหวัดหนองคาย และ6.จังหวัดสงขลา เนื่องจากกรมธนารักษ์สามารถรวบรวมโฉนดที่กระจายอยู่หลายแปลงในจังหวัดสระแก้ว มาเป็นโฉนดใบเดียวพื้นที่ 650 ไร่ได้สำเร็จเป็นแห่งแรก” นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวระหว่างแถลงข่าวลงนามในสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พื้นที่ที่จัดทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษมีจำนวน 650 ไร่ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยมีสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 50 ปี คิดค่าเช่าตลอดทั้งสัญญา 32,000 บาทต่อไร่ต่อปี นอกจากนี้ มีส่วนลดพิเศษให้แก่ กนอ.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรัฐในอัตราส่วน 30% หรือจ่ายจริง 70% ของราคาเช่าที่ทำสัญญากับกรมธนารักษ์
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายดังกล่าวมานามเกือบ 1 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า เพราะในช่วงนั้นอยู่ระหว่างการจัดหาและเตรียมพื้นที่ แต่เมื่อทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง กรมธนารักษ์ก็พร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว โดยจะเปิดให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเช่าที่ราชพัสดุในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด
“เจ้าแรกที่ทำสัญญาเช่าที่กับธนารักษ์คือ กนอ.เพราะมีความพร้อมมากที่สุด และมีความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุในจังหวัดสระแก้ว แต่เราก็ยังมีพื้นที่อื่นๆอีกหลายแปลงที่พร้อมจะเปิดให้เอกชนเช่าที่ดิน”
สำหรับเขตเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลมีทั้งหมด 6 เขตนั้น ในจำนวนนี้ จะเปิดให้ กนอ. เช่าทั้งหมด 3 แปลงประกอบ ด้วยจังหวัดสระแก้ว จังหวัดตากและจังหวัดสงขลา และจะเปิดห้เอกชนเช่า 4-5 แปลงที่จังหวัดตาก จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดตราดและจังหวัดหนองคาย โดยได้กำหนดค่าเช่าที่ดินเรียบร้อยแล้วตามมติครม. เช่น จังหวัดสระแก้ว 32,00 ล้านต่อไร่ต่อปี จังหวัดตราด 36,000 บาทต่อไร่ต่อปี จังหวัดมุกดาหาร 24,000 บาทต่อไร่ต่อปี และจังหวัดสงขลา 40,000 บาทต่อไร่ต่อปี เป็นต้น
หลังจากที่กรมธนารักษ์มีข้อตกลงที่ชัดเจนกับ กนอ.แล้ว ขั้นตอนต่อไป กนอ.ก็จะเข้าไปจัดสรรที่ดินเพื่อทำประโยชน์ต่อไป โดยจะต้องลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเช่นถนน ระบบไฟฟ้า น้ำประปาและทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดสระแก้วเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในช่วงระหว่างนี้ กนอ.จะต้องลงทุนเพิ่มอีก 4,000-5,000 ล้านบาท และใช้เวลาในการก่อสร้างอีก 2-3 ปีข้างหน้า นิคมฯ จังหวัดสระแก้วถึงจะพร้อมเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ปัญหาของความล่าช้าในการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ มาจากการรวบรวมโฉนดที่ดินที่กระจายออกเป็นหลายแปลงในพื้นที่เดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการบุกรุกของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย แม้จะเปิดให้มีการเจรจาหลายรอบแล้วก็ตาม แต่ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เช่น จังหวัดสงขลา พื้นที่ทั้งหมด 1,096 ไร่ มีประชาชนอาศัยอยู่บางส่วนและบุกรุกบางส่วน ซึ่งในตอนแรกกรมธนารักษ์คาดว่า ที่ดินแปลงนี้ จะสามารถเปิดตัวได้เป็นโครงการแรกแต่หลังจากเจรจากับประชาชนแล้ว ยังไม่มีข้อยุติจึงจำเป็นต้องเลื่อนออกไป ส่วนที่จังหวัดตากน่าจะมีความชัดเจนในเดือน เม.ย.นี้
ขณะที่ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า “ กนอ.ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และความเหมาะสมเชิงลึก การออกแบบ การจัดแผนแม่บทการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดทำราย งานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ตั้งแต่เดือนม.ค.ที่ผ่านมา โดยคาดว่า ผลการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.หรือเดือนเม.ย.ปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างนิคมฯ ได้ภายในปีงบประมาณ2560 และพร้อมเปิดดำเนิน การภาย ในปีงบประมาณ2561”
โดยพื้นที่ของจังหวัดสระแก้วที่เปิดเป็นนิคมฯมีความเหมาะสมที่จะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจทางใต้จากประเทศเวียดนาม กัมพูชา ไทยมุ่งสู่ท่าเรือแหลมฉบังและขึ้นไปทวายประเทศเมียนมาออกสู่มหาสมุทรอินเดียโดยนิคมแห่งนี้ กนอ.จะเน้นทาง ด้านอุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้แก่การค้าและการลงทุนข้ามแดน และยังช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสอ็มอี) และผู้ประกอบการขนาดกลางอีกด้วย โดยคาดว่า พื้นที่ในนิคมฯ จังหวัดสระแก้ว จากจำนวนทั้งหมด 650 ไร่ เมื่อหักการลงทุนทางด้านระบบสาธารณูปโภคเรียบร้อยแล้ว จะเหลือพื้นที่เปิดให้เช่าประมาณ 60-65 ซึ่งขณะนี้มีเอกชนติดต่อขอใช้พื้นที่นิคมแล้ว 5-6 ราย
เอกชนที่สนใจมีทั้งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการขนาดใหญ่ แสดงความสนใจเข้าลงทุน เช่น บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และเครือเอสซีจี ที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและก่อสร้าง รวมทั้งมีบริษัทอื่นๆ ในกลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้า คลังกระจายสินค้า อาหารแปรรูป และเครื่องดื่ม โดยสามารถแบ่งพื้นที่เช่าได้ 60 แปลง คาดว่าจะมีเอกชนเช่า 50 ราย เชื่อว่าจะมีเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท และทำให้ กนอ.มีรายได้ 4,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน ในพื้นที่ 4,000 คน
สำหรับอัตราค่าเช่าขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งจะมีการเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กนอ.พิจารณาในเดือน มี.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าค่าเช่าจะอยู่ในอัตราไร่ละ 160,000 บาทต่อไร่ต่อปี ขณะที่ กนอ.มีต้นทุนในการปรับปรุงระบบสาธารณูป โภคในพื้นที่ กนอ.เฉลี่ยไร่ละ 1.2-1.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ กนอ.ก็จะมีการลงนามร่วมกับกรมธนารักษ์ในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุเพื่อพัฒนาเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา พื้นที่ 1,196 ไร่ จังหวัดตาก พื้นที่ 836 ไร่
ทั้งนี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมากมาย เช่น กรณีบริษัทนิติบุคคล ได้รับการยกเว้นภาษี 8 ปี และยังลดหย่อนภาษีกำไรสุทธิจากการลงทุนในอัตรา 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ได้ 2 เท่า และลดหย่อนภาษีเงินบุคคลธรรมดาจาก 20% เหลือ 10% เป็นระยะเวลา 10 ปี