ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ฟื้น 4 เดือนติด
ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนธ.ค.58 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 อยู่ที่ 87.5 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลเห็นผล
นายสุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนธ.ค.2558 จำนวน 1,201 ราย ครอบคลุม 44 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 31.3%, 37.0% และ 31.7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด
นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ 43.6%, 13.2%, 12.6%, 13.4% และ 17.2% และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ 82.7% และ 17.3% ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธ.ค.2558 อยู่ที่ระดับ 87.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.8 ในเดือนพ.ย.
ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีฯ ในเดือนธ.ค.2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ปัจจัย บวกที่ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการเดือนธันวาคม ได้แก่ การจัดกิจกรรมกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี การจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2015 และมาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงปีใหม่ ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงต่อเนื่องได้ส่งผลดีต่อต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานจะเป็นกลไกสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพ และพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.7 โดยปรับตัวลดลงจาก 104.4 ในเดือนพ.ย. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการใน 3 เดือนข้างหน้า เกิดจากความกังวลต่อการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 เนื่องจากมีการเร่งการใช้จ่ายในช่วงปลาย ปี 2558 ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น และเครื่องประดับ ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนความกังวลต่อภัยการก่อการร้ายในหลายประเทศ