แบงก์ชาติเผยเศรษฐกิจสิงหาคมอ่อนแอ
รายงานเศรษฐกิจ และการเงินในเดือนสิงหาคม ของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงสะท้อนภาพของความอ่อนแอของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนักท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง
ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนสิงหาคม ปี 2558ระบุว่าในเดือนสิงหาคม 2558 กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอ่อนแอ การส่งออกสินค้าหดตัวมากขึ้นจากความต้องการจากจีนและอาเซียนที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังสะท้อนความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนที่ลดลงโดยเฉพาะรายได้นอกภาคเกษตร และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เปราะบาง
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการนำเข้าสินค้าทุน และยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ปรับเพิ่มขึ้น แต่ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว สำหรับภาครัฐยังใช้จ่ายได้ต่อเนื่องแม้แรงส่งจะลดลงบ้างหลังจากเร่งไปในช่วงก่อน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอัตราการว่างงานทรงตัว โดยแรงงานบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังปริมาณน้ำฝนเอื้อต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องตามการนำเข้าที่อยู่ในระดับต่ำ
พร้อมกับระบุถึงรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคม ดังนี้
การส่งออกสินค้ายังคงซบเซา สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่หดตัวร้อยละ 9.5 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วในเกือบทุกหมวดสินค้าที่สำคัญได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมีเนื่องจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอลงโดยเฉพาะจีนและอาเซียน อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง2) สินค้าเกษตร จากข้าวที่อุปสงค์โลกชะลอตัว และมันสำปะหลังที่แม้ความต้องการจากจีนยังสูงแต่ผลผลิตในไทยมีจำกัดเนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว และ 3) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผู้บริโภคในตลาดโลกเปลี่ยนไปนิยมสินค้าที่ใช้โซลิดสเตทไดรฟ์เป็นส่วนประกอบมากขึ้น อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าบางหมวดยังขยายตัวได้ อาทิ รถยนต์โดยเฉพาะ อีโคคาร์และรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปผลิตและประกอบเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ประเภทโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต
ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัว เพราะเหตุระเบิดในกรุงเทพฯ และความไม่สงบทางการเมืองในมาเลเซียส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้ลดลงจากเดือนก่อนตามจำนวนนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นหลัก อย่างไรก็ดีจำนวนนักท่องเที่ยวยังสูงกว่าในเดือนเดียวกันปีก่อน และตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนเป็นต้นมาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปรับดีขึ้น โดยมีแนวโน้มจะกลับเป็นปกติในอีก 2 – 3 เดือน
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมยังสะท้อนถึงความระมัดระวังในการใช้จ่ายของครัวเรือน เนื่องจากรายได้นอกภาคเกษตรปรับลดลง และรายได้เกษตรกรตกต่ำต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังเปราะบาง เมื่อประกอบกับการที่สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่มีมูลค่าสูง อาทิ รถยนต์ จึงยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับสินเชื่อยานยนต์ที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทรงตัวจากเดือนก่อน แลหมวดสินค้าไม่คงทนขยายตัวบ้างจากการบริโภคน้ำมันและหมวดบริการ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและการสื่อสาร
อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ลดลงส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จะปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนแต่ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราว ตามการกลับมาทยอยผลิตรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่หลังเสร็จสิ้น การปรับเปลี่ยนสายการผลิตรวมทั้งการสะสมสต็อกของสินค้ากลุ่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่
ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการลงทุนด้านเครื่องจักร โดยมีการนำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นตามการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์รุ่นใหม่ส่วนการลงทุนด้านก่อสร้างทรงตัวจากเดือนก่อนเนื่องจากผู้ประกอบการยังรอประเมินกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นหลัก
การนำเข้าสินค้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการนำเข้าน้ำมันดิบที่ราคาปรับลดลง ขณะที่การนำเข้าสินค้ากลุ่มอื่นๆ แม้ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
การใช้จ่ายภาครัฐทำได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะแผ่วลงบ้างหลังจากที่เร่งเบิกจ่ายไปมากแล้วในช่วงก่อนหน้า โดยการเบิกจ่ายงบประจำยังคงขยายตัวตามการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งการซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งในและนอกงบประมาณทำได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะโครงการขนาดเล็กด้านคมนาคม ขนส่ง และชลประทาน สำหรับรายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการนำส่งรายได้แผ่นดินเพิ่มเติมจากรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของกระทรวงการคลัง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -1.19เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ0.89 ชะลอลงเล็กน้อยจากการปรับลดค่าโดยสารสาธารณะตามต้นทุนน้ำมัน ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยมีแรงงานบางส่วนย้ายกลับเข้าสู่ภาคเกษตรหลังปริมาณน้ำฝนเอื้อต่อการเพาะปลูกข้าวนาปีมากขึ้น
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันการเงิน และการขายหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรวมแล้วดุลการชำระเงินขาดดุล