สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 มิ.ย. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (116 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.เลย (99 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (12 มม.) ภาคกลาง : กรุงเทพมหานคร (13 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (52 มม.) ภาคใต้ : ชุมพร (125 มม.)
วันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศลาวและเวียดนามตอนบน”ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกระจายและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 26 – 27 มิ.ย. 68 ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังปานกลาง จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากในบางพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
2. คุณภาพน้ำ ณ จุดเฝ้าระวัง แม่น้ำสายหลัก :
น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ใน เกณฑ์มาตรฐาน
3. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 56% ของความจุเก็บกัก (45,207 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 36% (21,094 ล้าน ลบ.ม.)
สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่อาจเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเน้นการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน พร้อมทั้งสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน และจัดเตรียมมาตรการช่วยเหลือผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและทันท่วงที
4. ข่าวประชาสัมพันธ์ : วานนี้ (24 มิ.ย. 68) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม พร้อมลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำหนองหารและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ณ ประตูระบายน้ำสุรัสวดี อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร และสำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยบริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม
เลขาธิการ สทนช. เน้นย้ำการปรับแผนการระบายน้ำหนองหารและอ่างเก็บน้ำน้ำอูน ให้สอดคล้องสถานการณ์น้ำหลาก โดยขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพร่องน้ำและบริหารจัดการปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอย่างรัดกุม เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำและบรรเทาผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ สทนช. ได้ประเมินว่าฝนจะตกหนักและสะสมต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำโขงกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร สำหรับ จ.สกลนคร ไม่มีพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขง แต่เป็นพื้นที่ต้นน้ำของ จ.นครพนม หากมีฝนตกหนักสะสมจนเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ จะทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงไม่คล่องตัว ส่งผลต่อการบริหารจัดการน้ำโดยรวม และกำชับหน่วยงานจัดทำบัญชีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ เตรียมการเคลื่อนย้ายไปศูนย์พักพิงชั่วคราว รวมทั้งสำรวจวางกระสอบทรายและกลุ่มเปราะบาง ขณะเดียวกัน สทนช. ได้ประสานงานกับ MRCS และ สปป.ลาว เพื่อคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลลงแม่น้ำโขงและแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกันเพื่อลดระดับน้ำล้นตลิ่งริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด และนัดหารืออีกครั้งในวันที่ 11 ก.ค. 68
ทั้งนี้ สทนช. ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า(ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างมีเอกภาพและบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในฤดูฝนนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 มิ.ย. 68