สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ม.ค. 67
สภาพอากาศวันนี้ :มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 12 – 16 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก
สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 73% ของความจุเก็บกัก (60,457 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 63% (36,246ล้าน ลบ.ม.) การประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ จำแนกเป็น 1) ด้านอุปโภค-บริโภค ในเขต กปภ. 13 จังหวัด และนอกเขต กปภ. 33 จังหวัด 2) ด้านการเกษตร นาปรัง 13 จังหวัด และพืช-ไม้ผล 22 จังหวัด 3) ด้านคุณภาพน้ำ ในเขต กปภ. 7 จังหวัด และนอกเขต กปภ. 3 จังหวัด
สทนช. ติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ.นครราชสีมา
สทนช. ได้ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ บ.ดอนทะยิง ม.8 ต.โนนไทย อ.โนนไทย, บ.ดอนใหม่ ม.10 ต.บ้านวัง อ.โนนไทย และ บ.กุดไผ่ ม.8 ต.ทัพรั้ง อ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา โดยได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการระดมเครื่องจักรเครื่องมือและการวางแผนสูบน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ พร้อมสร้างความเข้าใจกับประชาชนและเกษตรกรให้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังความเค็มในการผลิตน้ำประปา
กอนช. ถกเข้มแผนบริหารจัดการน้ำปี 67 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งแบบเชิงรุก คาดครึ่งปีแรกฝนน้อยจากอิทธิพลเอลนีโญ สั่งเกาะติดฝนรายเดือนพร้อมปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ย้ำทุกหน่วยงานอย่าประมาทสงวนน้ำให้มากที่สุด
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 67 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยผลการประชุมว่า สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ในปัจจุบัน ระดับน้ำได้กลับเข้าสู่ระดับต่ำกว่าตลิ่งและสถานการณ์ได้คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา ได้เน้นย้ำให้มีการรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ประมาท และติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนแบบรายเดือนเพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด
นอกจากนี้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงหน่วยงานของจังหวัด ยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางของรองนายกรัฐมนตรี โดยการลงสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน ทั้งแบบเฉพาะหน้าและระยะยาว อาทิ เพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำบาดาลมาใช้ วางแผนขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม เป็นต้น รวมทั้งได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบำบัดน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชน และสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมในการบริหารจัดการประปาชุมชนอีกด้วย
แผนและผลการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67
แผนปลูกข้าวนาปรังทั้งประเทศ 5.80 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 6.73 ล้านไร่ (116%)
แผนการเพาะปลูกพืชไร่ – พืชผักทั้งประเทศ 0.57 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 0.41 ล้านไร่ (72%)
แผนการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง 6.37 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 7.14 ล้านไร่ (112%) ข้อมูล ณ วันที่ 10 ม.ค. 67