สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 24 ต.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ กับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่างทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์: ช่วงวันที่ 25 – 29 ต.ค. 66 ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 23 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 6,416 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 62,193 ล้าน ลบ.ม. (76%)
ปริมาณน้ำใช้การ 38,024 ล้าน ลบ.ม. (66%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 10 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา แม่มอก และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง หนองหาร และอุบลรัตน์ ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 3 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
น้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในช่วง 1-3 วัน บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล
พื้นที่ชุมชน รวม 4 จังหวัด 17 อำเภอ 79 ตำบล 472 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,203 ครัวเรือน ดังนี้
ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง
พื้นที่เกษตรกรรม รวม 15 จังหวัด 244,100 ไร่ ได้แก่ จ.อุทัยธานีพระนครศรีอยุธยา ชัยนาท อ่างทอง สุพรรณบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
ปัจจุบัน (วันที่ 23 ต.ค. 66) อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 966.56 ล้าน ลบ.ม. (100.68%) และมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำฯ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม กรมชลประทาน จึงดำเนินการปรับเพิ่มการระบายน้ำ จากอัตรา 8.64 ล้าน ลบ.ม./วัน เป็นอัตรา 12.96 ล้าน ลบ.ม./วัน ในวันที่ 23 – 29 ต.ค. 66 โดยทยอยปรับเพิ่มระบายน้ำแบบขั้นบันไดอย่างเหมาะสม ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 0.30-0.50 เมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในลำน้ำและไม่ส่งผลกระทบให้แม่น้ำป่าสักเกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่ง
กรมชลประทาน เข้าดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ และการระบายน้ำบริเวณคลองผักไห่-เจ้าเจ็ด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
กองทัพบก ร่วมกับกรมชลประทาน ก่อแนวกระสอบทรายเป็นแนวผนังกั้นน้ำ จำนวน 600 กระสอบ บริเวณริมแม่น้ำมูล เพื่อป้องกันน้ำจากแม่น้ำมูลล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชนท่ากอไผ่ ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี