สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ต.ค. 66
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่
คาดการณ์: ในช่วงวันที่ 9 –13 ต.ค. 66 ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
พายุไต้ฝุ่น “โคอินุ” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนในช่วงวันที่ 10 ต.ค. 66 และจะอ่อนกำลังลง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 7 ต.ค. 66 น้อยกว่าปี 2565 จำนวน 9,129 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งยังเพียงพอสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำในช่วงฤดูฝนนี้ ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึงและพอเพียง สำหรับการอุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม และการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งถัดไป สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 56,561 ล้าน ลบ.ม. (69%)
ปริมาณน้ำใช้การ 32,398 ล้าน ลบ.ม. (56%)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่
เฝ้าระวังน้ำมาก 9 แห่ง ภาคเหนือ : แม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก และกิ่วลม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ห้วยหลวง ลำปาว หนองหารน้ำพุง และอุบลรัตน์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ขอให้หน่วยงานพิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน และคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำหรับฤดูแล้งนี้ด้วย
เฝ้าระวังน้ำน้อย 6 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ ทับเสลา และบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จุฬาภรณ์ ภาคตะวันออก : คลองสียัด ภาคตะวันตก: ปราณบุรี
ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
สทนช. ประกาศ ฉบับที่ 2/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม ได้แก่ ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ พะเยา แพร่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ มุกดาหาร อุดรธานี อุบลราชธานี) ภาคกลาง (จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี) ภาคตะวันออก (จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง) ภาคใต้
(จ.นราธิวาส พังงา ระนอง)
2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ดังนี้ แม่น้ำมูล ได้แก่ อ. เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานีแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ
ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.20–0.80 เมตร แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ อ.เมืองสุพรรณบุรี และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน และนครชัยศรี จ.นครปฐม แม่น้ำปราจีนบุรี ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
สถานการณ์อุทกภัย พื้นที่ชุมชน รวม 3 จังหวัด 13 อำเภอ 62 ตำบล 407 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11,334 ครัวเรือน ดังนี้
จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
พื้นที่เกษตรกรรมพื้นที่เกษตรกรรม รวม 17 จังหวัด 479,383 ไร่ ได้แก่ จ.ลำปาง สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สระบุรี และสุพรรณบุรี
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย ที่เขื่อนลำปาวและพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวเกินความจุเก็บกัก ซึ่งต้องมีการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อน ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับลดอัตราการระบายน้ำเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว และลดปริมาณน้ำที่ไหลลงลำน้ำชีแลละลำน้ำมูล