สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 28 ก.ย. 66
ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ตราด (194) จ.ลำปาง (148) จ.ระนอง (139) จ.ปทุมธานี (137) จ.นครราชสีมา (123) และ จ.กาญจนบุรี (59)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 51,923 ล้าน ลบ.ม. (63%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,521 ล้าน ลบ.ม. (65%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ ฉบับที่ 21/2566 เรื่องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล
จากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี คาดว่าในวันที่ 2 ต.ค. 2566 ระดับน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำ
• สทนช. คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำช่วงปลายฤดูฝน โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เน้นย้ำหน่วยงานเร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยขณะนี้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ หวังเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนต่างๆ เพื่อรับมือสภาวะเอลนีโญ ซึ่ง สทนช. ได้ประสานงานร่วมกับกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ควบคุมการระบายน้ำไม่ให้กระทบกับความมั่นคงของเขื่อน และคำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานต่างๆ เร่งกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้รองรับปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงเดือน มิ.ย. 67 และควบคุมการระบายน้ำในทางน้ำต่างๆ ให้มีผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
• สทนช. เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคอีสาน พร้อมรับมืออุทกภัยปลายฤดูฝน โดยนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. เป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตาม ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำในบางพื้นที่ของลุ่มน้ำชี-มูล รวมทั้งมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำปริมาณมาก (เช่น อ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำปาว ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ และสิรินธร) จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำโดยพร่องน้ำลงสู่ด้านท้ายน้ำ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังด้านท้ายน้ำ รวมถึงมวลน้ำไหลหลากมาสมทบบริเวณลุ่มน้ำมูล และปัจจุบันได้มีน้ำท่วมขังจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ บริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
• สทนช. เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลาง 7 จังหวัดภาคอีสาน โดยนายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแนวทางการบริหารน้ำและผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 กันยายน 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 21/2566 ลงวันที่ 25 กันยายน 2566 เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำชี – มูล ในช่วงวันที่ 26 – 28 กันยายน 2566 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ รวมถึงจากการติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบัน (วันที่ 25 กันยายน 2566) ระดับน้ำ +112.21 เมตร ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 0.21 เมตร จากปริมาณฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าในวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ระดับน้ำจะอยู่ที่ระดับ +112.84 ม.รทก. (สูงกว่าตลิ่ง 0.8 ม.) ซึ่งปริมาณน้ำจะล้นตลิ่งต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและไหลหลากเข้าท่วมชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ จึงขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ด้านท้ายน้ำอ่างเก็บน้ำลำปาว ได้แก่ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด กมลาไสย ฆ้องชัย และ ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ สว่างวีระวงศ์ และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรุงเทพมหานคร จัดเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการเก็บขยะและวัชพืช เพื่อเตรียมพร้อมรับฝน ให้น้ำไหลได้สะดวก ไม่มีขยะและวัชพืชกีดขวางทางน้ำไหล โดยได้ดำเนินการในพื้นที่ คลองบางแวก คลองแอนเน็กซ์ คลองสามวา คลองสอง คลองสนามชัย ครอบคลุมพื้นที่ เขตบางแค เขตสายไหม เขตคลองสามวา เขตหลักสี่่ และเขตบางขุนเทียน
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2566 นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันเฉียงเหนือ และเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 1/2566 ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำ กรมประชาสัมพันธ์ และกองบัญชาการทัพไทย เป็นต้น โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่การป้องกันก่อนเกิดภัย ร่วมกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม การวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งการประชุมในวันนี้ จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิบัติงาน การเตรียมเจ้าหน้าที่ ทรัพยากร สถานที่ และสิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายฤดูฝนนี้ ให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ป้องกัน บรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด เพื่อเร่งคลี่คลายสถานการณ์และให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว