สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ก.ย. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.น่าน (195) จ.นครพนม (136) จ.ตราด (49) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (48) จ.สงขลา (47) จ.พระนครศรีอยุธยา (26)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,919 ล้าน ลบ.ม. (55%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,316 ล้าน ลบ.ม. (56%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 17/2566 ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ระนอง และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและ ลำน้ำสาขา จ.น่าน
กอนช. ติดตามการดำเนินการจัดทำผังน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 4 (ปัจฉิมนิเทศ) โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน เวทีที่ 1 ณ โรงแรมเทวราช จ.น่าน เวทีที่ 2 ณ โรงแรมเดอะพาร์ค จ.พิษณุโลก เพื่อนำเสนอร่างผลการศึกษาโครงการ และให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ก่อนนำเสนอ กนช. ได้พิจารณาและให้ความเห็นชอบ แล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อทราบโดยทั่วกัน ซึ่งผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการลุ่มน้ำ หน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่เกี่ยวข้อง
การประชุมครั้งนี้ ได้นำเสนอร่างผลการศึกษาผังน้ำ ที่แสดงในรูปแผนที่และแผนผังแล้ว เอกสารและคู่มือเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ อาทิเช่น ข้อเสนอแนะการเตรียมความพร้อมในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในระบบทางน้ำของผังน้ำ เพื่อช่วยลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินจากภาวะน้ำท่วม ข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับหน่วยงานผู้มีอำนาจอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน คู่มือการบริหารจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเกิดเอกภาพและเป็นระบบ โดยผังน้ำลุ่มน้ำน่านมีพื้นที่น้ำหลาก รหัสโซน “ล” ประมาณ 1.49 ล้านไร่ ซึ่งหมายถึง ทางน้ำธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อรองรับน้ำหลากหรือน้ำขึ้นและน้ำลง และให้น้ำสามารถระบายหรือไหลผ่านได้ ควรใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร มิให้เกิดการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำ หรือกีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ เว้นแต่การใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนดไว้เป็นเขตชุมชน
เขตอุตสาหกรรม และเขตพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมตามผังเมืองรวม และพื้นที่น้ำนอง รหัสโซน “น” ประมาณ 1.28 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่น้ำนองหมายถึงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำในฤดูน้ำหลากหรือพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อใช้เป็นที่ชะลอน้ำ โดยมีอาคารบังคับน้ำสำหรับบริหารจัดการน้ำเข้าออก ควรใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นเขตชนบทและเกษตรกรรม และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร มิให้เกิดการพัฒนาที่อาจก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำหรือกระแสน้ำ หรือ กีดขวางการไหลของน้ำในระบบทางน้ำ ซึ่งประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับทราบว่าตนเองอยู่ในจุดเสี่ยงหรือไม่ คณะกรรมการลุ่มน้ำจะมีข้อมูลประกอบ
ในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม และหน่วยงานของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดวางโครงการเพื่อการป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง/น้ำท่วม ตลอดจนการอนุมัติ/อนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่จะไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำ