สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ก.ย. 66
ฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ลำปาง (127) จ.ระนอง (121) จ.ลพบุรี (110) จ.มุกดาหาร (109) จ. จันทบุรี (84) จ.กาญจนบุรี (74)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,465 ล้าน ลบ.ม. (54%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,956 ล้าน ลบ.ม. (56%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 17/2566 ในช่วงวันที่ 5-10 ก.ย. 66 บริเวณ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย ชัยภูมิ มุกดาหาร นครพนม และนครราชสีมา ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ภาคกลาง จ.อุทัยธานี และกาญจนบุรี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช ระนอง และภูเก็ต และเฝ้าพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ริมแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา จ.น่าน
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำน้ำดื่มสะอาดบรรจุขวด ขนาด 1,500 มล. จำนวน 2,000 ขวด เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชน ในพื้นที่ ต.ปัถวี อ.มะขาม จ.จันทบุรี ที่ประสบภัยน้ำท่วม-น้ำหลาก
กอนช. ลงพื้นที่ จ.นครสววรค์ เพิ่มน้ำต้นทุนบึงบอระเพ็ด
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักรตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน 2566 รวมทั้ง 3 มาตรการรับมือเอลนีโญเพิ่มเติม ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยและมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้ปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติและคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ที่ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 49 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ10) น้อยกว่าปี 65 และมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวคือ บึงบอระเพ็ด ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเหลือเพียง 9.4 ล้าน ลบ.ม. (ร้อยละ 4) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับน้ำเก็บกักต่ำสุด ทั้งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำเพื่อรักษาพันธุ์สัตว์น้ำมากกว่า 3 ล้าน ลบ.ม. จากการประเมินสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันการเพิ่มน้ำต้นทุนดำเนินการโดยสถานีสูบน้ำทับกฤชของกรมทรัพยากรน้ำ โดยมีการจัดทำข้อตกลง 4 ข้อ ระหว่างกลุ่มเครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำรอบบึงบอระเพ็ด ได้แก่ 1.งดสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดและลำคลองสาขาเพื่อไปทำนา ยกเว้นแปลงนาที่อยู่ระหว่างเพาะปลูกไปแล้ว 2.สูบน้ำเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (บ่อปลา) ได้ แต่ต้องดูแลคุณภาพน้ำทิ้งจากบ่อปลา 3.ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้และต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และ 4.สร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำผ่านผู้นำท้องถิ่นและให้ชาวบ้านช่วยสอดส่องดูแลรักษาระเบียบตามข้อตกลงข้างต้น
จากการวิเคราะห์คาดการณ์ฝนล่วงหน้าเดือนกันยายน-ตุลาคม 66 ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าปกติอยู่ในช่วงร้อยละ 3-10 ทำให้โอกาสที่จะมีปริมาณน้ำที่เกิดจากน้ำฝนไหลเข้าบึงบอระเพ็ดมีปริมาณไม่มากนัก จึงจำเป็นต้องเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนให้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 กันยายน 2566 ดังนี้
- ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 17/2566 ลงวันที่ 3 กันยายน 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 5 – 10 กันยายน 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน)จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง อุ้มผาง แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ) จังหวัดแพร่ (อำเภอร้องกวาง) จังหวัดน่าน(อำเภอปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ และสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทยและเนินมะปราง) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ และเมืองเพชรบูรณ์) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอน้ำปาด)จังหวัดกำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย (อำเภอภูเรือ) จังหวัดชัยภูมิ
(อำเภอหนองบัวแดง) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอเมืองมุกดาหาร) จังหวัดนครพนม (อำเภอธาตุพนม) จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอปากช่อง) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา บ้านโพธิ์ บางน้ำเปรี้ยว และบางปะกง) จังหวัดนครนายก (อำเภอปากพลี และองครักษ์) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอประจันตคาม และบ้านสร้าง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอคลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง แหลมงอบ และบ่อไร่) ภาคกลาง จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ) ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช
(อำเภอฉวาง และพิปูน) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต และถลาง) - สภาพอากาศ
ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ส่วนในช่วงวันที่ 6 – 10 ก.ย. 66 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก - ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
3.1 กรมชลประทาน ตำเนินการกำจัดวัชพืชกีดขวางทางน้ำ บริเวณท่อระบายน้ำคลองวังผึ้งหมู่ 5 บ้านห้วยชัน ตำบลท่านางาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก เพื่อการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 9 หน่วยปฏิบัติการ ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและป่าไม้ 20 จังหวัด (จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.พิจิตร จ.สุโขทัย จ.กำแพงเพชร จ.ตาก จ.อุตรดิตถ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.กาญจนบุรี จ.สุพรรณบุรี
จ.ชัยนาท จ.มหาสารคาม จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา) และเติมน้ำต้นทุนอ่างเก็บน้ำ 19 แห่ง (อ่างเก็บน้ำแม่กวงอุดมธารา อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ อ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง อ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา อ่างเก็บน้ำห้วยทรวง บึงบอระเพ็ด อ่างเก็บน้ำห้วยเทียน อ่างเก็บน้ำลำสำลาย อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ่างเก็บน้ำซับประดู่ อ่างเก็บน้ำปราสาทใหญ่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนบน) อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร(ตอนล่าง) อ่างเก็บน้ำหนองกก อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร อ่างเก็บน้ำประแสร์)