สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ส.ค. 66
ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.ตาก (230) จ.นครพนม (162) จ.ปราจีนบุรี (88) จ.กาญจนบุรี (60)
จ.สงขลา (60) จ.ปทุมธานี (15)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 41,060 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,452 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
+กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบ
ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน จัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หากมีกรณีฝนตกหนัก หรือลมกระโชกแรงจนส่งผลกระทบต่ออาคารชลประทาน และทรัพย์สินของทางราชการให้สามารถเข้าไปดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว ตรวจสอบอาคารชลประทานให้มีสภาพพร้อมใช้งาน และบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกับจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
สทนช. ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ติดตามพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงในพื้นที่ภาคกลางวานนี้ (31 ก.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช.ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักฯ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค โดยปริมาณ
ฝนสะสมในภาพรวมของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบันและในช่วงฤดูฝนของปีนี้ ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง มีปริมาณฝนสะสมน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 40% ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่ยังคงส่งผลกระทบอยู่ นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้มีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทย 1 – 2 ลูก ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่กักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า พร้อมกำชับให้บริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศเพื่อรองรับผลกระทบของเอลนีโญไปถึงปี 2567 ซึ่งการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชไม้ผลไม้ยืนต้นเป็นหลัก พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสม เนื่องจากภาคกลางมีพื้นที่ปลูกข้าวที่จะต้องใช้น้ำปริมาณมาก ปัจจุบันภาพรวมทั้งประเทศ ทั้งในและนอกเขตชลประทานเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 43.43 ล้านไร่ จากแผน 59.94 ล้านไร่ ส่วนพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งในและนอกเขตชลประทานเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 11.04 ล้านไร่ จากแผน 13.13 ล้านไร่ จึงขอให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์รณรงค์ขอความร่วมมือเกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 สิงหาคม 2566 ดังนี้
1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2566 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเกษตรสมบูรณ์) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ และปรางค์กู่) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอท่าตะเกียบ) จังหวัดชลบุรี (อำเภอบ่อทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน แก่งหางแมว และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และพนม) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง)
2. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ บำรุงรักษาสถานีตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ และระบบส่งข้อมูลสัญญาณภาพ จำนวน 5 สถานี ดังนี้ สถานีอุบลราชธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สถานีแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สถานีเขื่องใน (ลำเซบาย) อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี สถานีลำเซบาย/ลำเซบก อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และสถานี CCTV โขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
3. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.ลพบุรี ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโคกกระเทียม พร้อมติดตามการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักฯ จากนั้น ติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี ทั้งนี้ได้กำชับให้กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค เคร่งครัดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนอย่างรัดกุมให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับผลกระทบของเอลนีโญที่คาดจะลากยาวไปถึงปี 2567 อีกทั้งกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ควบคู่ต่อเนื่องไปด้วย เพื่อเตรียมรับมือทั้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป