สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 ก.ค. 66
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.น่าน (243) จ.อำนาจเจริญ (89) จ.กาญจนบุรี (68) จ.จันทบุรี (63) จ.พังงา (18) และ จ.ลพบุรี (14)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,905 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,307 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ขาดเเคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ในเขตพื้นที่ ต.ปะเคียบ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ได้รับผลประโยชน์จำนวน 1,129 หลังคาเรือน ประชากร 4,403 คน พื้นที่การเกษตร 3,500 ไร่ พร้อมบำรุงรักษาสถานีเตือนภัยให้พร้อมใช้งาน เพื่อใช้ในการช่วยเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ผ่านคณะกรรมการลุ่มน้ำและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำการประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ครั้งที่ 3/2566 เพื่อรับทราบ 1)รายงานสถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝังตะวันออกตอนบน 2)มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 3)การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองและขับเคลื่อนแผนงานโครงการในเขตลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำในเขตลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และ 4)ผลการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการบริหารจัดการน้ำ ในเขตลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 66 ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบรายงานโครงการแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน และมอบหมายให้ สทนช. เสนอ กนช. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และนำมาใช้ในลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบนต่อไปการคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดสุพรรณบุรีครั้งที่ 5/2566 เพื่อรับทราบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ผ่านระบบ Thai Water Plan สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำกระเสียว 4 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำท่าจีน การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และนอกพื้นที่ชลประทาน การคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่ และการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและน้ำแล้ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2566 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเกษตรสมบูรณ์) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ
และปรางค์กู่) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอท่าตะเกียบ) จังหวัดชลบุรี (อำเภอบ่อทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน แก่งหางแมว และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และพนม) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณคลองระบายน้ำสายใหญ่ท่าผา – บางแก้ว ช่วง กม.25+700 ถึง กม.30+144 ต.หนองดินแดง อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝน และเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
สภาพอากาศ
มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือตอนบน ภาคะวันออกเฉียงเหนือภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 66 นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือการจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเร่งพิจารณาจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อีอีซี เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบของสถานการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ปริมาณฝนน้อยและทิ้งช่วงยาวนาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งและเกิดความผันผวนของปริมาณน้ำฝนในระยะยาว อันเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตในอนาคตและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านน้ำให้กับนักลงทุนในพื้นที่อีอีซี