อุตสาหกรรมยันโตโยต้ ยาริส เอทีฟ ไม่ห่วย!!
“ปลัดฯ ณัฐพล” ถกด่วน Chairman Toyota กรณีรถยนต์ Yaris Ativ
นาย ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบของ นายอากิโอะโตโยดะ (Mr.Akio Toyoda) ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น รวมถึง เจ้าหน้าที่บริหารพื้นภาคเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อวันที่9 พฤษภาคม 2566 เพื่อชี้แจงกรณีรถยนต์ Yaris Ativ (ยาริส เอทีฟ) ที่ใช้ทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยในการปกป้องผู้ขับขี่จากการชนด้านข้างตามมาตรฐาน UN R95 (Protection of the Occupants in the event of a Lateral Collision) ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ได้ตรวจพบความไม่สมบูรณ์ของรถยนต์ที่ใช้ทดสอบว่ามีรอยบากบริเวณด้านข้างแผงประตูรถยนต์ฝั่งคนขับ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนนำรถไปทดสอบตามมาตรฐาน UN R95 ว่า จากการหารือร่วมกัน ได้รับทราบถึงความเสียใจของบริษัทฯ ที่ทำให้ผู้บริโภคคนไทยเกิดความไม่มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัยในรถยนต์ Yaris Ativ เนื่องจาก โตโยต้าเป็นแบรนด์ใหญ่ที่คนไทยรู้จักและได้รับความนิยมเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องขอชื่นชมบริษัท โตโยต้าฯ ซึ่งได้ตรวจพบความไม่สมบูรณ์ของรถทดสอบ แล้วรีบแจ้งให้ผู้บริโภคคนไทยทราบในทันที รวมทั้ง ได้ส่งรถยนต์ที่ผลิตและจำหน่ายจริงในประเทศ ไปทำการทดสอบยืนยันที่ประเทศญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ารถยนต์Yaris Ativ ผ่านการทดสอบมาตรฐานการชนด้านข้าง และได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่มีอำนาจในการตรวจสอบมาตรฐานแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล รุ่นที่ 2 (ECO Car 2) ตามข้อกำหนดของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งต้องผ่านการทดสอบคุณสมบัติในด้าน “สะอาด ประหยัด ปลอดภัย” ตามมาตรฐานสากล โดยบริษัท โตโยต้าฯ ได้ยื่นผลทดสอบที่ผ่านตามมาตรฐานการชนด้านข้าง UN R95 ที่ออกโดยหน่วยทดสอบที่เป็นสากล ให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาต่อไปแล้ว
นาย ณัฐพลฯ กล่าวว่า มาตรฐานด้านความปลอดภัยมีความสำคัญต่อประชาชนผู้ใช้รถยนต์ จึงกำหนดเป็นคุณสมบัติหนึ่งของโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) อยู่ระหว่างการดำเนินงานออกประกาศกำหนดให้คุณสมบัติในการป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุการชนด้านข้าง (UN R95) และคุณสมบัติในการป้องกันผู้โดยสารกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุการชนด้านหน้า (UN R94) ให้เป็นมาตรฐานบังคับสำหรับรถยนต์นั่งทุกประเภท รวมทั้ง อยู่ระหว่างการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทดสอบมาตรฐานด้านหน้าและด้านข้างเพื่อให้บริการทดสอบที่ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำการตรวจสอบผลทดสอบและเอกสารรับรอง (Certification) ของมาตรฐานการชนด้านข้าง (UN R95) แล้ว ยังได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ไปตรวจสอบชิ้นส่วนแผงด้านข้างประตูรถยนต์ฝั่งคนขับ และชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง ณ โรงงานผลิตรถยนต์โตโยต้า ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายในสัปดาห์นี้อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยมั่นใจได้ว่า รถยนต์ Yaris Ativ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มีมาตรฐานด้านความปลอดภัย รวมทั้งมีการใช้ชิ้นส่วนหรือใช้วัสดุสำหรับผลิตชิ้นส่วนเช่นเดียวกับรถยนต์ที่ออกแบบไว้ทุกประการ หลังจากนั้น บริษัท โตโยต้าฯ จะกลับมาผลิตรถยนต์รุ่นดังกล่าวเพื่อจำหน่ายและส่งมอบให้กับผู้บริโภคชาวไทยได้ต่อไป” ดร.ณัฐพลกล่าวด้านนายอากิโอะ โตโยดะ (Mr.Akio Toyoda) ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บริษัทโตโยต้าขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งบริษัทมีกระบวนการในการปฏิบัติก่อนส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้า และการตรวจสอบมาตรฐานดังกล่าว เป็นกลไกหนึ่งของมาตรฐานโตโยต้า เมื่อเราพบกับปัญหาดังกล่าว บริษัทฯ ได้หยุดจำหน่ายและทำการทดสอบยืนยันอีกครั้ง เพื่อความ
มั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย ผมขอยืนยันว่า กรณีนี้ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพของรถยนต์ แต่เป็นส่วนของการรับรองมาตรฐานที่พบความไม่เหมาะสมของการทดสอบ ทั้งนี้ ความไม่เหมาะสมดังกล่าว ทางบริษัท ไดฮัทสุ เป็นผู้รับผิดชอบในการพัฒนาตัวถังและการขอใบรับรอง ได้ดำเนินการทดสอบกันชนด้านข้างอีกครั้ง ณ ห้องทดสอบประเทศญี่ปุ่นแล้ว โดยขอยืนยันว่าการดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปตามข้อกำหนด UN-R95 ทั้งหมดทั้งนี้ การทดสอบการชนด้านข้างตาม UN R95 จะทำการทดสอบโดยนำรถยนต์ทดสอบจอดอยู่นิ่งไว้ แล้วใช้แท่งน้ำหนัก (Barrier) เคลื่อนที่ด้วยความเร็วประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พุ่งเข้าชนรถยนต์ทดสอบ โดยภายหลังการชน จะมีการตรวจวัดแรงกระแทกจากการชนไปยังคนขับหรือหุ่นทดสอบ (Dummy)ตรงบริเวณหัว ทรวงอก กระดูกเชิงกรานและท้องว่า มีค่าเท่าไร โดยต้องไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด รวมทั้ง มีการตรวจสอบสภาพของรถหลังถูกชนว่า พบการรั่วไหลของของเหลวหรือไม่ มีการเสียรูปของอุปกรณ์ภายในรถยนต์ที่เป็นอันตรายต่อผู้โดยสารหรือไม่ และประตูรถฝั่งตรงข้ามคนขับต้องสามารถเปิดได้โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ใดช่วยเพื่อนำผู้โดยสารออกมาได้อย่างปลอดภัย