มอเตอร์ไซค์เมินไม่ทำพ.ร.บ.46% ทุบสถิติ7วันอัตราย
คปภ. เผยช่วง 7 วันอันตรายสงกรานต์ปีนี้มอเตอร์ไซค์ครองแชมป์เกิดอุบัติเหตุพบไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. 46%
เลขาธิการ คปภ. ย้ำเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท พร้อมเดินหน้ารณรงค์เชิงรุกให้รถทุกคันทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ
นาย สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาตลอด โดยเฉพาะการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยได้จัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีพี่น้องประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและเดินทางกลับภูมิลำเนาพบปะญาติมิตรเพื่อรดน้ำดำหัวตามประเพณีสงกรานต์ ส่งผลให้การใช้รถใช้ถนนมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างมาก สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเพื่อช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยโดยได้ออก 8 มาตรการ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566) เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยกับประชาชนผู้ประสบภัยได้ทันท่วงทีกรณีเกิดอุบัติเหตุ ประกอบด้วย มาตรการแรก เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์กับศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จังหวัดจัดตั้งขึ้น ตามแนวนโยบายที่สำนักงาน คปภ. ให้การสนับสนุน และให้ความร่วมมือและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยกับหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มาตรการที่ 2 ร่วมกับจังหวัดตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ณ จุดตรวจร่วม/จุดบริการร่วม รวมทั้งประสานและประชุมกับเครือข่ายประกันภัยในพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและสนับสนุนข้อมูลด้านการประกันภัย การจัดการสินไหมทดแทนให้กับประชาชน หากมีเหตุหรือความจำเป็นที่จะต้องได้รับการเยียวยาช่วยเหลือด้านการประกันภัย และ/หรือร่วมตั้งศูนย์บริการประกันภัยช่วง 7 วัน อันตรายระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566 เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการข้อมูลและให้คำปรึกษาด้านการประกันภัย
มาตรการที่ 3 ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่ม แฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการจำหน่าย รายชื่อหน่วยงาน บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วม และสาขาบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยในพื้นที่ เป็นต้น เงื่อนไขการรับประกันภัย ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 100,000 บาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) และคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 5,000 บาท ช่วงอายุการรับประกันภัยตั้งแต่ 15 – 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย ช่วงเวลาทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ผู้เอาประกันภัยแต่ละราย มีสิทธิได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพียง 1 กรมธรรม์ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย เท่านั้น มาตรการที่ 4 ประชาสัมพันธ์กรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์ บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการจำหน่าย รายชื่อหน่วยงาน บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วม และสาขาบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยในพื้นที่ เป็นต้น เงื่อนไขการรับประกันภัย ความคุ้มครองอุบัติเหตุสูงสุด 30,000 บาท (ระยะเวลาการเอาประกันภัย 30 วัน) และคุ้มครองโจรกรรม 5,000 บาท ช่วงเวลาทำสัญญาประกันภัยตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ผู้เอาประกันภัยแต่ละราย มีสิทธิได้รับกรมธรรม์ประกันภัยจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเพียง 1 กรมธรรม์ต่อผู้ประกอบการ 1 ราย เท่านั้น มาตรการที่ 5 จัดกิจกรรมรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสถานีวิทยุท้องถิ่น และ/หรือสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รวมถึงสื่อมวลชนในพื้นที่ และสอดแทรกการประชาสัมพันธ์ เรื่อง กรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มแฮปปี้สงกรานต์ (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัยสงกรานต์บ้านหายห่วง (ไมโครอินชัวรันส์) เบี้ยประกันภัย 10 บาท การประกันภัยรถตาม พ.ร.บ คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ. 2535 รวมทั้งการรณรงค์ดื่มไม่ขับ การรณรงค์ให้ผู้ที่ใช้รถยนต์คาดเข็มขัดนิรภัย และรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น
มาตรการที่ 6 ประชาสัมพันธ์ช่องทางที่จะใช้ในการติดต่อกับสำนักงาน คปภ. นอกเหนือจากสายด่วน คปภ. 1186 โดยในส่วนภูมิภาคขอให้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.) เป็นต้น
ทั้งนี้จากข้อมูล ในช่วง 7 วันอันตราย (ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566) มีประชาชนใช้บริการผ่านสายด่วน คปภ. 1186 เป็นจำนวนมาก โดยประเด็นหารือที่ประชาชนสอบถามเข้ามามากที่สุด 5 อันดับ ประกอบด้วย อันดับแรกตรวจสอบและสอบถามเงื่อนไขความคุ้มครองประกันภัยรถภาคบังคับ อันดับที่ 2 ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับใบอนุญาต/สมัครสอบ/อบรม/การขอรับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย อันดับที่ 3 ตรวจสอบและสอบถามเกี่ยวกับประกันภัยรถภาคสมัครใจ อันดับที่ 4 ต้องการร้องเรียนด้านประกันภัย และอันดับที่ 5 ขอคัด ตรวจสอบ และติดตามกรมธรรม์ประกันภัย
มาตรการที่ 7 กรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ สำนักงาน คปภ.ภาคและจังหวัด พร้อมลงพื้นที่โดยทันทีเพื่อติดตามช่วยเหลือและตรวจสอบด้านการประกันภัยเบื้องต้นว่ามีผู้ประสบภัยจากรถมีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยใด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ประสานผู้ประสบภัย ทายาทผู้ประสบภัย และบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกและเร่งติดตามให้มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตำรวจ สำนักงานขนส่งจังหวัด รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สาขาบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ว่าผู้ประสบภัยได้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก จะได้ประสานบริษัทประกันภัยเพื่อช่วยติดตามการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อไป
มาตรการที่ 8 สั่งการให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ติดตามและรายงานความเสียหายด้านประกันภัยที่เกิดขึ้นในช่วง 7 วันอันตราย (ระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2566) ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงการรณรงค์ 7 วันแห่งความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 2,203 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 264 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,208 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (68 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (22 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (70 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 2 จังหวัด คือ พัทลุง พังงา
สำหรับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้านการประกันภัย สำนักงาน คปภ. ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ณ วันที่ 18 เมษายน 2566 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน จำนวน 70 ราย เป็นจำนวนเงิน 3,368,508 บาท เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 มีการจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าสินไหมทดแทน จำนวน 139 ราย เป็นจำนวนเงิน 5,145,145 บาท จึงได้สั่งการให้บริษัทประกันภัยเร่งประเมินความเสียหายและจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
นอกจากนี้ยังพบว่ามีรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 75.25 และในจำนวนรถจักรยายนต์ที่เกิดอุบัติเหตุมีร้อยละ 53.47 ที่ทำประกันภัย พ.ร.บ. ภาคบังคับ และร้อยละ 46.53 ที่ไม่ได้ทำประกันภัย พรบ. ภาคบังคับ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ายังมีรถที่อยู่นอกระบบการประกันภัย พ.ร.บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีเจ้าของรถจำนวนมากที่ยังขาดความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากการใช้รถใช้ถนน
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความห่วงใยและฝากเตือนไปยังเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถทุกคันมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. หากฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท หรือหากเป็นผู้ที่ใช้รถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และหากเป็นทั้งเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ. และได้นำรถคันนั้นออกไปใช้เองจะมีความผิดทั้ง 2 ข้อหา โดยมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จะยังคงมุ่งเน้นการรณรงค์เชิงรุกให้รถทุกคันทำประกันภัย พ.ร.บ. ทั่วประเทศ ทั้งนี้หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมด้านประกันภัย ติดต่อสายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย