สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 ม.ค. 66
ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้า สำหรับภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 ม. บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 ม.
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (46 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (42 มม.) และ จ.ยะลา (32 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 41,022 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,287 ล้าน ลบ.ม. (70%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ รายงานสถานการน้ำในพื้นที่ (4 ม.ค. 66) ดังนี้
อ่างเก็บน้ำบางลาง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,225.43 ล้าน ลบ.ม. (84.3%) ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 228.93 ล้าน ลบ.ม. วันที่ 3 ม.ค. 66 ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 9.19 ล้าน ลบ.ม.
ปริมาณน้ำระบาย 10.05 ล้าน ลบ.ม. (แผนการระบายน้ำ ณ วันที่ 4 ม.ค. 66 ระบาย 10 ล้าน ลบ.ม.)
คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ในช่วงวันที่ 6 – 8 ม.ค. 66 บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน
4. เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาสเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 5 ม.ค. 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
1.1 กรมชลประทาน ดำเนินการกำจัดวัชพืช บริเวณประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำบางยี่หน ตำบลตะค่า อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
1.2 กรมเจ้าท่า ดำเนินการขุดลอกแม่น้ำตุ๋ย ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ระยะทาง 4,950 เมตร เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดของร่องน้ำ รองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง เก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และซ่อมแซมฝายผันน้ำเข้าพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอก ประมาณ 550 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 800 ไร่
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 5 – 8 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง อุณหภูมิลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมบริเวณอ่าวไทย และภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนล่าง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนบางแห่งเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 – 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 9 – 10 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังอ่อนลง
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 41,022 ล้าน ลบ.ม. (71%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 33,287 ล้าน ลบ.ม. (70%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,583 ล้าน ลบ.ม. (90%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,152 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 13,030 ล้าน ลบ.ม. (72%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 32,998 ล้าน ลบ.ม. (70%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 4,785 ล้าน ลบ.ม. (22%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,714 ล้าน ลบ.ม. (20%)