สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ธ.ค. 65
ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า กับมีฝนเล็กน้อยบางแห่งภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (233 มม.) จ.ปัตตานี (179 มม.) และ จ.ยะลา (141 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 43,361 ล้าน ลบ.ม. (75%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,402 ล้าน ลบ.ม. (74%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช.ประกาศฉบับที่ 56/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.ชุมพร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
กอนช. ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ตามประกาศ กอนช. ฉบับที่ 56/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขังในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) มีฝนตกหนักสะสมติดต่อกันหลายวัน ส่งผลให้ระดับน้ำในลุ่มน้ำสายหลักเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมและปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ โดยกรมชลประทานดำเนินการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้
พร่องน้ำในพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน โดยปัจจุบันพร่องน้ำได้มากกว่า 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร
เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ประจำจุดเสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที
กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมขุดลอกคลอง เพื่อสามารถรองรับน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ
ตรวจสอบอาคารชลประทาน จำนวน 131 แห่ง ให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กอนช. เน้นย้ำหน่วยงานติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าอย่างต่อเนื่อง
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ดำเนินการตรวจเยี่ยมหน่วยปฏิบัติการเจาะบ่อน้ำบาดาลตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ พื้นที่ 500 ไร่ ณ บ้านหนองฮังเหลว หมู่ที่ 4 ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร และ ติดตามการดำเนินงานก่อสร้างโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ จำนวน 9 แห่ง ณ บ้านพัฒนา ตำบลกุดเรือคำ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
2. สภาพอากาศ
บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านตอนล่างของภาคใต้และประเทศมาเลเซีย สำหรับบริเวณอ่าวเบงกอลมีพายุโซนร้อน “MANDOUS” กำลังเคลื่อนตัวไปยังทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ โดยพายุนี้ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,361 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,402 ล้าน ลบ.ม. (74%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,803 ล้าน ลบ.ม. (95%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,080 ล้าน ลบ.ม. (77%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,051 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 2,326 ล้าน ลบ.ม. (11%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 672 ล้าน ลบ.ม. (8%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
วานนี้ 9 ธันวาคม 2565 ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนแม่บท สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นวิทยากรบรรยาย ในหัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่แบบบูรณาการ” ในโครงการพัฒนาประสิทธิภาพการบูรณาการเชื่อมโยงแผนพัฒนาพื้นที่ในลักษณะแผนเดียว (One Plan) นำไปสู่การเชื่อมต่อระหว่างปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่กับทิศทางการพัฒนาของจังหวัดให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะแผนงาน/โครงการด้านการพัฒนาแหล่งน้ำในเชิงพื้นที่ ซึ่ง สทนช. เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ ณ แมนดาริน โฮเทล แมนเนจ บาย เซ็นเตอร์พอยต์ กรุงเทพฯ