สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 20 ก.ย. 65

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 20 ก.ย. 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฉบับที่ 2/2565 ลงวันที่ 18 ก.ย. 2565 ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ในช่วงวันที่ 18 – 24 ก.ย. 2565 บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบนจะมีฝนตกหนักประกอบกับพื้นที่น้ำท่วมเอ่อล้นตลิ่งก่อนหน้านี้ขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชลประทานพิจารณาปรับ เพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,400 – 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชี และลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,600 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.40 – 0.60 เมตร โดยอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำอาจเกิดน้ำท่วมขังและล้นตลิ่ง
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
วานนี้ (19 ก.ย. 65) พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 4/2565 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส โดยมี นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 นำเสนอการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการขับเคลื่อนมติ กพต. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก โดยได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน จังหวัดนราธิวาส พร้อมพบปะประชาชนและกล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
3. สถานการณ์น้ำท่วม
ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่างวันที่ 4 – 19 ก.ย. 65 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพะเยา ตาก ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชานี นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ