การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลดความเหลื่อมล้ำในตลาดแรงงาน กับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2022 นั้น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับรายได้ของลูกจ้าง ลดสัดส่วนแรงงานที่มีฐานะยากจน และอาจช่วยหนุนการปรับโครงสร้างในตลาดแรงงาน โดยจะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะกับกลุ่มแรงงานมีฝีมือและแรงงานวิชาชีพในระยะยาว และสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลกระทบในภาพกว้าง KrungthaiCOMPASS คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงประมาณ 4.5-6.6% จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวขึ้นประมาณ 0.69-1.01% ขณะที่เงินเฟ้ออาจสูงขึ้น 0.13-0.20% ในปี 2023 เนื่องจากการขึ้นค่าจ้างจะกดดันต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อ แต่อาจไม่กระทบจีดีพี เนื่องจากผลสุทธิได้รับการชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สอดคล้องกับค่าจ้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 13 กันยายน 2022 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2022 นี้ ถือเป็นการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีหลังจากประกาศครั้งล่าสุดที่มีผลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยเป็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ตั้งแต่ 8-22 บาทต่อวัน คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในช่วง 4.5-6.6%
หากเทียบกับการปรับค่าแรงขึ้นต่ำครั้งก่อนหน้า การปรับรอบนี้ถือเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในช่วงเกือบสิบปีนับตั้งแต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันเมื่อปี 2012 แต่การปรับในครั้งนั้นถือเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดที่ส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินเพิ่มถึง 39.5% ขณะที่การปรับอีก 2 ครั้งในปี 2017 และ 2018 จะปรับขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่า 5% อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยในตลาดแรงงานจะถูกกำหนดโดยกลไกตลาดตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการจ้าง โดยเฉพาะในช่วงปี 2015-2017 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ กระทั่งในปี 2020 ที่มีการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมิได้ทำงานแต่ยังได้รับการรักษาสถานภาพการจ้างงาน ส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินลดลงในช่วงกลางปีและค่าจ้างเคลื่อนไหวผันผวนตามการระบาดหลายระลอกหลังจากนั้น ปัจจัยบวกจากการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้ค่าจ้างที่เป็นตัวเงินมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2021 แม้ว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังมิได้เปลี่ยนแปลงก็ตาม
ตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นแรงกดดันการปรับค่าจ้าง
ปัจจัยที่หนุนให้ค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2021 คือ การทยอยฟื้นตัวของตลาดแรงงาน หลังจากที่ต้องเผชิญปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดในช่วงปี 2020 ถึง 2021 ที่ส่งผลให้อัตราการว่างงานแตะระดับ 2.2% เมื่อเดือนก.ค. 2021 สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2008 (แต่ยังน้อยกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ที่แตะระดับสูงถึง 5%) ทั้งนี้การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ รวมทั้งอานิสงส์จากการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวผ่านระบบไทยแลนด์พาสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 หนุนให้ภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานล่าสุดเดือนมิถุนายน 2022 กลับมาอยู่ในระดับที่เกือบเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาด ส่วนอัตราการว่างงานล่าสุดเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับตัวเลขต่ำสุดหลังการแพร่ระบาดเมื่อเดือนมีนาคม 2022 ตลาดแรงงานจึงกำลังทยอยปรับตัวดีขึ้นตามความต้องการกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่ลูกจ้างซึ่งส่วนหนึ่งเคยประสบปัญหาถูกเลิกจ้างหรือพักงานในช่วงการแพร่ระบาดได้เริ่มกลับไปทำงาน Krungthai COMPASS มองว่า พัฒนาการที่ตีขึ้นของตลาดแรงงานดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหนุนการปรับขึ้นค่าแรง การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นตอกย้ำถึงแรงกดดันในการปรับเพิ่มค่าแรง ซึ่งได้ทยอยเพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว
การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำในระยะที่ผ่านมาช่วยลดสัดส่วนแรงงานที่มีฐานะยากจน
หากประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในระยะที่ผ่านมา ข้อมูลเชิงประจักษ์บ่งชี้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างมีบทบาทในการลดอัตราส่วนแรงงานที่มีฐานะยากจนลง หลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดในปี 2012 นั้น สัดส่วนผู้มีงานทำที่ยากจน ซึ่งเป็นแรงงานที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่าเส้นความยากจน[1] ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยทยอยปรับลงจากสัดส่วนถึง 12.2% ในปี 2011 ก่อนการปรับค่าจ้าง มาสู่ระดับตัวเลขหลักเดียวที่ 9.6% ในปี 2014 ขณะที่การปรับค่าจ้างในช่วงปี 2017-2018 ยังส่งผลให้สัดส่วนแรงงานยากจนปรับตัวลงสู่ 5.4% ในปี 2019 แม้ว่าปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเป็นผลให้สัดส่วนแรงงานยากจนขยับขึ้นแตะ 5.8% ในปี 2020 ก็ตาม แต่แนวโน้มการปรับตัวลงของสัดส่วนผู้มีงานทำที่ยากจนในช่วงกว่า 10 ปีนี้ สะท้อนผลเชิงบวกจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งช่วยลดการแสวงประโยชน์จากแรงงานที่มีทักษะต่ำ ทั้งยังลดสัดส่วนของแรงงานยากจนที่เปราะบางต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจลงได้ ขณะที่การฟื้นตัวล่าสุดของเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายยังคงไม่ทั่วถึง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับรายได้ของแรงงาน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการปรับตัวของเศรษฐกิจให้กระจายตัวได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
คาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะหนุนให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น และกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้ค่าตอบแทนของแรงงานทั้งระบบปรับตัวเพิ่มจากเดิมและยังหนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนให้เพิ่มสูงขึ้นด้วย เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนกับการบริโภคภาคเอกชนย้อนหลังในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า การบริโภคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวสูงขึ้นของค่าจ้างแรงงานโดยเฉลี่ย อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์ในปี 2020 กดดันการบริโภคภาคเอกชนให้ปรับตัวลดลงและมีผลเชิงลบต่อค่าจ้างเฉลี่ย การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย Krungthai COMPASS คาดว่า2 การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 4.5-6.6% จะส่งผลให้รายได้จากค่าจ้างที่เป็นตัวเงินโดยเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.36-0.53% และสามารถกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนได้ประมาณ 0.27-0.39% ในปี 2022 นี้ มาตรการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะหนุนการบริโภค ทั้งยังจะช่วยเพิ่มปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
การปรับขึ้นค่าแรง อาจกระทบภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำ
แม้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะหนุนให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่สูงขึ้น แต่ในทางกลับกันรายจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ประกอบกับแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่เพิ่มอาจดึงเงินเฟ้อขึ้น สำหรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการนั้น คาดว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะกระทบต่อภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำ และมีภาระรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้กิจการเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรรอบล่าสุด ในไตรมาสที่ 2/2022 พบว่าภาคการผลิตที่มีสัดส่วนแรงงานซึ่งได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าหรือเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ก่อสร้าง โรงแรม สันทนาการ และค้าปลีก ขณะเดียวกันหากประเมินจากตัวเลขสัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตทั้งหมดที่อ้างอิงจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตปี 2015 นั้นพบว่า ภาคการผลิตกลุ่มข้างต้นต้องแบกรับภาระค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิตสูงถึงประมาณ 10-20% Krungthai COMPASS ประเมินว่า การผลิตภาคเกษตรกรรม ซึ่งลูกจ้างในสาขาการผลิตเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเปราะบางและเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ขณะที่สาขาโรงแรมและสันทนาการ เป็นกลุ่มซึ่งได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์และเพิ่งจะได้รับสัญญาณบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว ส่วนสาขาก่อสร้างนั้นเคยเผชิญการระบาดในไซต์งานและกำลังประสบปัญหาต้นทุนวัสดุแพงขึ้น รวมถึงธุรกิจค้าปลีกซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME ที่มีทุนหมุนเวียนจำกัด กิจกรรมการผลิตเหล่านี้จะต้องแบกต้นทุนค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งจะซ้ำเติมการฟื้นตัวให้มีความยากลำบากท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น
อุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานมากจะได้รับผลกระทบสูง
หากพิจารณาถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีหลายสาขาที่เน้นการใช้ปัจจัยแรงงานอย่างเข้มข้น (Labour-intensive industry) และมีภาระรายจ่ายค่าจ้างต่อต้นทุนในสัดส่วนที่สูง การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะเพิ่มค่าใช้จ่ายให้สูงขึ้นและอาจส่งผลให้ธุรกิจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ท่ามกลางสภาวะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับกำไรต่อหน่วยที่บางลง ขณะที่ยังต้องแบกรับภาระต้นทุนหลายด้านที่แพงขึ้น โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบ ราคาสินค้าขั้นกลาง ค่าขนส่ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะส่งผ่านไปยังอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สูงขึ้นภายใต้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากการประเมินสัดส่วนค่าจ้างต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดพบว่า มีหลายสาขาอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต ซึ่งมีภาระค่าตอบแทนแรงงานเทียบจากต้นทุนทั้งหมดสูงกว่า 10-20% เช่น ยาสูบ เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า เซรามิก และการพิมพ์ เป็นต้น สาขาอุตสาหกรรมเหล่านี้จะแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ Krungthai COMPASS มีข้อสังเกตว่า อุตสาหกรรมแบกรับต้นทุนค่าจ้างสูง มักเป็นกลุ่มที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต หลายอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มดั้งเดิมที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจำนวนมาก กำไรต่อหน่วยลดน้อยถอยลง ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่มุ่งจำหน่ายสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นหลักยังอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับผู้ผลิตจากประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงอาจเพิ่มอุปสรรคให้แก่ผู้ประกอบการเหล่านี้มากยิ่งขึ้น
การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจกระทบเงินเฟ้อ แม้ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อการปรับโครงสร้างของตลาดแรงงาน
สำหรับการปรับเพิ่มค่าตอบแทนแก่กลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะและได้รับเงินค่าจ้างต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม รับจ้างทั่วไป บริการงานบ้าน ก่อสร้าง และโรงแรม นั้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า ผู้ประกอบการจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4.7-5.1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นประมาณ 0.29-0.32% ของจีดีพี3
ส่วนผลกระทบในภาพกว้าง ซึ่งได้ประเมินทั้งปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะหนุนการบริโภค และปัจจัยลบจากการขึ้นค่าจ้างที่มีต่อต้นทุนการผลิต และอาจกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น โดยใช้แบบจำลองที่สะท้อนการปรับตัวในภาวะดุลยภาพของปัจจัยข้างต้นซึ่งคำนวณจากข้อมูลอนุกรมเวลาในอดีตที่ผ่านมา4 Krungthai COMPASS คาดว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 8-22 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ของประเทศ โดยปรับจากเดิมที่อยู่ในช่วง 313-328 บาทต่อวัน เป็น 336-354 บาทต่อวัน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 4.5-6.6% จะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น 0.17-0.25% และกระทบต่อเงินเฟ้อประมาณ 0.03-0.04% ในปี 2022 นี้ ส่วนในปีหน้าคาดว่าดัชนีราคาผู้ผลิตจะปรับตัวขึ้นประมาณ 0.69-1.01% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.13-0.20% ทั้งนี้อาจส่งผลกระทบจีดีพีไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยลบจะถูกชดเชยด้วยปัจจัยบวกจากผลทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าจ้างอาจหนุนการปรับโครงสร้างในตลาดแรงงาน โดยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มแรงงานที่ขาดทักษะกับกลุ่มแรงงานมีฝีมือและแรงงานวิชาชีพในระยะยาว และสนับสนุนให้แต่ละภาคส่วนได้รับผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น
Krungthai COMPASS มีข้อเสนอแนะต่อผู้ประกอบการที่จะต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้บางภาคการผลิตที่พึ่งพาแรงงานค่าจ้างต่ำมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงานโดยภาพรวม จากผลแพร่กระจาย (Spillover) ในการเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้นของลูกจ้างกลุ่มที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าขั้นต่ำ โดยผู้ประกอบการควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพแรงงาน ทั้งการยกระดับทักษะให้ดีขึ้นกว่าเดิม (Upskill) และการสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) ซึ่งจะเอื้อต่อสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การปฏิรูปด้านดิจิทัล การพัฒนาทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มความสามารถของลูกจ้างดังกล่าวจะช่วยเพิ่มผลิตภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต ยอดขาย ทั้งยังจะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย และชดเชยผลกระทบจากค่าจ้างที่สูงขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรปรับระบบการผลิตให้มีความยืดหยุ่นตามสภาวะเศรษฐกิจที่เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ปรับลดขั้นตอนในการทำงานและใช้ระบบการผลิตที่กระชับ (Streamline) รวมถึงการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกำลังแรงงานที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น