รายได้เกษตรกรสุทธิของชาวสวนยางปี 2565 อยู่ที่ 107,810 ล้านบาท หรือลดลง 4.9%
ภาพรวมรายได้เกษตรกรชาวสวนยางของไทยในปี 2565 อาจยังสามารถประคองตัวในเกณฑ์ดีต่อได้ที่ราว 2.61-2.71 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.8%-6.6% (YoY) จากแรงหนุนด้านราคาเป็นหลัก โดยราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบชั้น 3 อาจอยู่ที่ราว 54-56 บาทต่อกก. ตามอุปสงค์ที่มีรองรับโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางล้อและถุงมือยางทางการแพทย์ ขณะที่อุปทานยางพาราน่าจะทรงตัวจากปีก่อนที่ราว 4.84 ล้านตัน จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยเป็นหลัก แต่ต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านราคาปุ๋ยในระดับสูงและโรคใบร่วงที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้รายได้เกษตรกรชาวสวนยางในปี 2565 อาจให้ภาพที่ดีขึ้น แต่พบว่า ในฝั่งของต้นทุนการผลิตก็ปรับสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งค่าแรงงาน ค่าปุ๋ยเคมีและค่ายากำจัดศัตรูพืช ล้วนกดดันให้รายได้เกษตรกรสุทธิของชาวสวนยาง (รวมเงินประกันรายได้) ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 (YoY) ไปอยู่ที่ราว 107,810 ล้านบาท ในภาวะที่เงินเฟ้อสูงและกำลังซื้อครัวเรือนที่เปราะบาง จะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง
รายได้เกษตรกรชาวสวนยางปี 2565 น่าจะขยายตัวต่อได้จากปีก่อน จากแรงหนุนด้านราคาเป็นหลักตามอุปสงค์ที่มีรองรับ ขณะที่อุปทานยางพาราน่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมรายได้เกษตรกรชาวสวนยางของไทยในปี 2565 อาจยังสามารถประคองตัวในเกณฑ์ดีได้ที่ราว 2.61-2.71 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8-6.6 (YoY) โดยมีรายละเอียดในมุมมองต่อประเด็นด้านราคาและปริมาณผลผลิตยางพารา ดังนี้
ราคา จะเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญต่อรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง โดยคาดว่า ราคาเฉลี่ยของยางแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยในปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 54-56 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6-6.4 (YoY) ตามอุปสงค์ที่มีรองรับในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์และถุงมือยางทางการแพทย์ อีกทั้งราคายางยังได้รับแรงหนุนจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงในปีนี้อย่างไรก็ดี ราคายางพาราคงเป็นการเติบโตแบบชะลอลง ตาม Pent Up Demand ที่คลี่คลายมากขึ้นและความไม่แน่นอนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปี (ก.ย.-ธ.ค.) ราคายางอาจย่อลงมาอยู่ที่ราว 48-51 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับช่วง 8 เดือนแรกของปีที่เฉลี่ย 57.9 บาทต่อกิโลกรัม ตามปัจจัยด้านฤดูกาลที่จะมีผลผลิตยางออกสู่ตลาดจำนวนมากที่ราวร้อยละ 44.9 ของปริมาณผลผลิตยางพาราทั้งปี
ผลผลิต คาดว่า ผลผลิตยางพาราของไทยในปี 2565 อาจทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ราว 4.84 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 (YoY) จากปัจจัยหนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยเป็นหลักที่จะทำให้ผลผลิตยางพารายังโตต่อได้ แต่คงเป็นการเติบโตเพียงเล็กน้อย เพราะมีปัจจัยฉุดรั้งจากราคาปุ๋ยเคมีที่อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยคาดว่า ราคาปุ๋ยยูเรียนำเข้าของไทยอาจยืนในระดับสูงที่ราว 800-900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันหรือเพิ่มขึ้นราวเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน จึงอาจกระทบต่อการใช้ปุ๋ยและปริมาณผลผลิตยางพารา รวมถึงความเสี่ยงของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบันและมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อต้นยางพารามากขึ้น[4] ได้สร้างความกังวลให้กับเกษตรกร เพราะยังไม่มียารักษาโรคนี้ให้หายขาด และคาดว่า แนวโน้มการพบพื้นที่ระบาดในไทยอาจเพิ่มขึ้นได้อีกโดยเฉพาะในฤดูฝน ล้วนกดดันอุปทานยางพาราไทย
นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงต้องจับตาปริมาณฝนที่อาจตกชุกในภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยางพาราหลัก ที่อาจมีความเสี่ยงให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน/น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนพ.ย.2565-ม.ค.2566 จนอาจฉุดรั้งภาพรวมผลผลิตยางพาราไทยในปีนี้ให้อาจหดตัวได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์รายได้เกษตรกรชาวสวนยางในปีนี้ให้เติบโตต่ำกว่ากรอบล่างที่ประเมินไว้ได้
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมรายได้เกษตรกรชวนสวนยางในปี 2565 จะให้ภาพที่ดีต่อเนื่องจากปีก่อน แต่หากมองในฝั่งของต้นทุนการผลิต จะพบว่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ทั้งค่าแรงงาน ค่าปุ๋ยเคมี ค่ายากำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะฉุดรั้งรายได้เกษตรกรสุทธิของชาวสวนยางให้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า แม้ภาพรวมรายได้เกษตรกรชาวสวนยางในปี 2565 จะให้ภาพที่ดี แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่ปรับพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงงานกรีดยาง ต้นทุนปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชจะกดดันทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิของชาวสวนยางในปี 2565 อาจปรับตัวลดลงไปอยู่ที่ราว 97,745 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ 103,382 ล้านบาท ทั้งนี้ หากรวมผลของเงินรายได้จากโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางจากภาครัฐ ก็จะช่วยทำให้รายได้เกษตรกรสุทธิที่รวมเงินช่วยเหลือจากภาครัฐในปี 2565 อาจอยู่ที่ราว 107,810 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 113,424 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.9 (YoY) สะท้อนถึงการส่งผ่านของต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันต่อเนื่องมายังรายได้เกษตรกรสุทธิให้ปรับตัวลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรสุทธิในปีนี้ที่ราว 107,810 ล้านบาท อาจไม่ได้แตกต่างจากค่าเฉลี่ยรายได้เกษตรกรสุทธิในอดีตมากนัก
ดังนั้น ในระยะสั้น ความช่วยเหลือด้านรายได้จากภาครัฐให้กับเกษตรกรแบบเฉพาะหน้า นับว่ายังมีความจำเป็น ในภาวะที่มีความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตที่ยังยืนสูงตามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีทีท่ายืดเยื้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนด้านอุปทานยางพารา (ราคาปุ๋ยเคมีในระดับสูง โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ภาวะ Climate Change) รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เปราะบาง และหนี้ครัวเรือนในระดับสูง จะยังเป็นปัจจัยกดดันความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง มองต่อไปในระยะข้างหน้า แนวทางการลดต้นทุนการผลิตนับเป็นสิ่งสำคัญ โดยเกษตรกรควรมีการปรับสัดส่วนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น อีกทั้งความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมในระยะกลาง-ยาว ก็มีความจำเป็น เช่น การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยสั่งตัด (การใช้ปุ๋ยเคมีตามชุดดิน) มากขึ้น เพื่อเป็นการจัดการธาตุอาหารพืชเฉพาะพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยถูกชนิดและถูกปริมาณอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและลดการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทย นอกจากนี้ การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับการผลิตยางพาราและรายได้เกษตรกรชาวสวนยางของไทยได้อย่างยั่งยืน