ฝ่าแผนรัฐบาลรับมือ “วิกฤติพลังงาน”
นายกฯตั้งกรรมการ 2 ชุดบริหารเศรษฐกิจ
ภาพระยะสั้นแรงกดดันเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงจะลดลงไปบ้างเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลง 2 วันทำการราคาน้ำมันเบนซินลดลงรวม 4.5 บาทต่อลิตร เนื่องมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย
นอกจากนั้นรัฐบาลเพิ่งจะมีการต่ออายุชุดมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากผลกระทบที่เกิดจากสงครามยูเครน – รัสเซีย ที่ยืดเยื้อยาวนาน โดยต่ออายุมาตรการที่หมดลงในเดือน มิ.ย. ออกไปอีก 3 เดือนครอบคลุมระยะเวลาระหว่างเดือน ก.ค. – ก.ย.2565
อย่างไรก็ตามยังมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเริ่มประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าหากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยาวนานมากกว่าระยะ 3 เดือนข้างหน้าจะใช้มาตรการรับมือกับวิกฤติในเรื่องของอาหาร และพลังงานที่อาจเกิดขึ้นและกระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชนโดยตรงได้อย่างไร
แม้ว่าในเรื่องของอาหารประเทศไทยยังห่างไกลจากคำว่าวิกฤติเพราะถึงจะราคาจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ไม่ขาดแคลน เนื่องจากเราเป็นประเทศผู้ผลิตอาหาร แต่ในเรื่องราคาพลังงานถือว่าส่งผลกระทบ ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.66% จากปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นมาต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ก.พ.และทำลายสถิติเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 13 ปีมาติดต่อกันหลายเดือน ทำให้เห็นว่าราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิตและเป็นต้นทุนของภาคธุรกิจมีผลอย่างมากกับค่าครองชีพของประชาชน
ที่ผ่านมารัฐบาลจะพยายามที่จะเข้าไปอุดหนุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 35 บาทต่อลิตรต่อไป แต่ในระยะยาวจะต้องพิจารณาว่าจะสามารถทำได้ต่อเนื่องแค่ไหนเมื่อเครื่องมือในการอุดหนุนราคาน้ำมันหลัก อย่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะกองทุนติดลบมากกว่า 1 แสนล้านบาทแล้วในขณะนี้จึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลต้องทบทวนแนวทางการบริหารงานเพื่อรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น รวมทั้งพิจารณาชุดมาตรการในการแก้ไขปัญหาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
ดึง สมช.ช่วยวางแผนรับวิกฤติพลังงาน – อาหาร
เมื่อกลไกการบริหารราชการปกติรวมทั้งการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีอยู่ตามปกติไม่สามารถที่จะรับมือกับวิกฤติที่มีแนวโน้มที่จะลากยาว เนื่องจากการสู้รบกันระหว่างยูเครน และรัสเซียยังไม่สิ้นสุด รวมทั้งการคว่ำบาตรระหว่างนานาประเทศที่เกิดขึ้นยังกินเวลายาวนาน และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงได้มอบหมายให้ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รับเรื่องการวางแผนรับมือกับวิกฤติพลังงาน และอาหาร โดยจัดทำแผนงานมาเสนอเข้าสู่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นให้นำแผนเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ตามขั้นตอนต่อไป
หลังจากที่นายกรัฐมนตรี สั่งการไป 2 สัปดาห์ เลขาธิการ สมช.ได้มีการเรียกหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาหารือเพื่อกำหนดแผนแบ่งเป็น 3 ระยะได้แก่ แผนระยะสั้น ครอบคลุมระยะเวลา 3 เดือน แผนระยะกลางครอบคลุมระยะเวลา 6 เดือน และแผนระยะยาวคือครอบคลุมระยะเวลาในปี 2566 ทั้งปี โดยแผนของ สมช.นั้นจะมีการมุ่งเน้นไปที่ความเพียงพอของพลังงานและอาหาร ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขาดแคลนที่จะส่งผลกระทบต่อเรื่องของการดำเนินชีวิตของประชาชน หรือกระทบต่อความต่อเนื่องในการทำธุรกิจหรือเรียกอีกนัยหนึ่งคือต้องให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในระดับที่เพียงพอที่จะดูแลคนในประเทศได้
ตั้งกรรมการ 2 ชุดบริหาร – แก้วิกฤติ
ที่ประชุม สมช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นโดยใช้กลไกคล้ายกับคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจขึ้นมาทำงาน ประกอบไปด้วย คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ มีการนำเอาหน่วยงานเศรษฐกิจเข้ามาประชุมหารือร่วมกัน และชุดที่สองคือคณะกรรมการเฉพาะกิจติดตามประมวลผลวิเคราะห์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาทุกมิติ และจัดทำแผนรองรับทุกด้านตามวิกฤติการณ์ในอนาคตมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ถือเป็นกลไกการบริหารในรูปแบบใหม่ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
ในส่วนของแผนรับมือวิกฤติพลังงานของประเทศ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ระบุว่าโอกาสที่ประเทศไทยจะเกิดปัญหาพลังงานขาดแคลนนั้นมีน้อยมากเพราะที่ผ่านมากระทรวงพลังงานก็ได้จัดทำแผนรองรับวิกฤติพลังงานไว้เป็นประจำทุกปี และมีการซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาไว้แล้ว ส่วนที่นำแผนการรับมือวิกฤติมาเข้าสู่ที่ประชุม สมช.เนื่องจากป็นการรับฟังแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพื่อประสานระหว่างหน่วยงานหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้ทำงานร่วมกันได้ทันที ถือว่าเป็นการซ้อมความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเอาไว้
เพิ่มสำรองน้ำมันแตะระดับ 70 วัน รับมือวิกฤติ
ทั้งนี้ประเทศไทยถือว่ามีความมั่นคงทางพลังงาน และมีการเตรียมแผนรองรับกรณีที่เกิดสถานการณ์ไม่สงบขึ้นในโลกโดยในปี 2565 ตั้งแต่เริ่มมีการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน โดยการปรับเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของผู้ค้าน้ำมัน และได้ประสานผู้ค้าเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย น้ำมันดิบเป็น 5% จากเดิม 4% และน้ำมันสำเร็จรูปเป็น 2% จากเดิม 1% ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอีก 7 วัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพพลังงานได้ โดยไม่กระทบการดำรงชีพของประชาชน
โดยการเพิ่มการสำรองน้ำมันในสัดส่วนดังกล่าวเท่ากับว่าประเทศไทย เรามีสำรองน้ำมันดิบ 60-70 วันโดยประมาณ ขณะที่ก๊าซแอลพีจี ประเทศไทยมีปริมาณสำรองไว้ประมาณ 15-20 วัน นอกจากนั้นในส่วนของก๊าซเรามีโรงแยกก๊าซอยู่ในประเทศอยู่แล้วจึงไม่น่ากังวล
อนุมัติปตท.ทำสัญญานำเข้า LNG อีก 1 ล้านตัน
นอกจากนี้ในเรื่องของการเตรียมความพร้อมจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอนุมัติให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดหา LNG สัญญาระยะยาว ในปริมาณ 1 ล้านตันต่อปี เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวที่มีการลงนามแล้ว 5.2 ล้านตันต่อปีรวมเป็น 6.2 ล้านตันต่อปี โดยจะเริ่มส่งมอบ LNG ตั้งแต่เดือนมกราคม 2569 เป็นระยะเวลา 15-20 ปี และ กพช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้กำกับดูแลให้ราคา LNG ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กพช.กำหนด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน เป็นธรรม โปร่งใส
ทั้งนี้การอนุมัติให้เพิ่มการนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มเติมเนื่องจากรัฐบาลพิจารณาแล้วว่าการจัดหาก๊าซ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในประเทศเผชิญกับความเสี่ยงทั้งจากการพัฒนาโครงการผลิต LNG แหล่งใหม่และการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทยมีปริมาณจำกัดมากขึ้น
รวมทั้งความเสี่ยงจากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังมีความยืดเยื้อ รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองในประเทศเมียนมาที่ส่งผลให้การนำเข้าก๊าซจากเมียนมาอาจไม่สามารถทำได้ตามปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้ประเทศมีการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง ที่ประชุม กพช. จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดหา LNG เพิ่มเติมจากสัญญาระยะยาวแทนการจัดหาLNG ระยะสั้น (Spot LNG) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาด Spot LNG ด้วย
เลื่อนแผนปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่อง 8 – 11
นอกจากนี้ในการเตรียมความพร้อมเรื่องเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ารัฐบาลได้มีการลดการพึ่งพาการผลิตเชื้อเพลิงที่ส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ กพช.ได้มีการอนุมัติให้เลื่อนแผนการปลดเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะ เครื่องที่ 8 – 11 ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568 ซึ่งถือว่าเป็นอีกแนวทางที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่ก๊าซ LNG ในตลาดโลกมีราคาสูง และช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศได้บางส่วน
อย่างไรก็ตามแม้การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซจะมีต้นทุนที่สูง แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุว่าในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ที่เคยอยู่ในแผนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) นั้นรัฐบาลจะไม่ได้หยิบขึ้นมาพิจารณาโครงการอีกครั้งในช่วงนี้ โดยยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ และหากจะมีการทำในเรื่องนี้อีกครั้งก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ และทำประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามขั้นตอนก่อน รวมทั้งต้องมีการทำการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้าน (SEA) ก่อนด้วย ซึ่งถือว่าใช้ขั้นตอนค่อนข้างนาน
โดยแนวทางการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาเพิ่มเติม รวมทั้งการเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 -11 ออกไปก่อนจะไม่กระทบกับ เป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของประเทศตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศไทยที่กำหนดว่าภายในปี 2573 ประเทศไทยต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอนตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้กับนานาประเทศ
เล็งคุยกัมพูชาพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน
ในการประชุม สมช.ได้หารือกันถึงแนวทางการจัดหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อรองรับวิกฤติที่อาจจะลากยาวออกไปและการขนส่งน้ำมัน และก๊าซจากประเทศที่อยู่ไกลจากประเทศไทยจะมีปัญหา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่าการหาแหล่งพลังงานในประเทศเพิ่มเติมทั้งบนบก และในทะเลถือว่ามีความจำเป็นเพราะไทยต้องหาทางพึ่งพาแหล่งพลังงานจากในประเทศมากขึ้น
รวมทั้งต้องมีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในอาเซียนที่สามารถทำความร่วมมือทางพลังงานร่วมกันเหมือนกับการทำความร่วมมือในพื้นที่พัฒนาพลังงานร่วมไทย – มาเลเซีย (JDA) โดยนายกรัฐมนตรีได้ขยายความว่าในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา นั้นรัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะเจรจากับกัมพูชาโดยพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทางทะเล เพื่อให้ประโยชน์ในแง่ของพลังงานและเศรษฐกิจร่วมกันในอนาคต
นับเป็นแผนการรับมือกับวิกฤติพลังงานรอบล่าสุดที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงเมื่อไหร่ และกลไกในการบริหารเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตินี้ผ่านคณะกรรมการ 2 ชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาใหม่จะสามารถพาประเทศผ่านวิกฤตินี้ไปได้หรือไม่ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามการทำงานในระยะต่อไป