อนาคตเศรษฐกิจไทยบนเส้นทาง “เศรษฐกิจบีซีจี”
ภายหลังจากวิกฤติโควิด-19 คลี่คลายลง แต่ละประเทศต่างแสวงหาโมเดลเศรษฐกิจที่จะสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างสมดุลในอนาคต เพื่อหาทางเพิ่มรายได้ และรองรับวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า
ประเทศไทยรัฐบาลได้หันกลับไปมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจตาม “โมเดลบีซีจี” โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้หน่วยงานต่างๆทำแผนปฏิบัติการที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในเรื่องนี้ นอกจากนั้นรัฐบาลจะนำเอาโมเดลบีซีจีเป็นวาระหลักหนึ่งที่จะใช้ในการกำหนดประเด็นในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีนี้ด้วย
ทั้งนี้การพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางบีซีจีมีการพูดถึงมาตั้งแต่ปี 2564 โดยดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในขณะนั้น เสนอโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวให้รัฐบาลพิจารณาโดยตั้งเป้าหมายที่พัฒนาเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าระดับเดิมก่อนที่จะมีวิกฤติโควิด-19
บีซีจีหนุนจีดีพีไทยโตเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท
โดยมองว่าการพัฒนาประเทศไทยจะเริ่มจากศูนย์ไม่ได้ แต่เราต้องพัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่ และเศรษฐกิจบีซีจีที่มีอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้วมาต่อยอด จาก 4 สาขา คือ 1.อาหารและการเกษตร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ และ 4.ภาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยโมเดลตัวนี้จะเป็นสิ่งที่จะทำให้ “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นรูปธรรมได้จริง และสามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่เชื่อมโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งสามารถที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นได้ 1 ล้านล้านบาท
ช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เกิดจาก 4 สาขาเศรษฐกิจข้างต้นเพิ่มขึ้นจาก 3.4 ล้านล้านบาท เป็น 4.4 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้ง 4 สาขาของเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน(อิง GDP ปี 2561) รวมกัน 3.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 21% ของจีดีพี และมีการจ้างงาน 16.5 ล้านคน
แต่เมื่อนำบีซีจีโมเดลมาขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจทั้ง 4 สาขานี้จะเพิ่มมูลค่าได้ถึง 1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 24% ของจีดีพีสามารถสร้างการจ้างเพิ่มขึ้นได้อีกถึง 20 ล้านคน และช่วยให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
เดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ด้านอย่างสมดุล
ทั้งนี้แนวทางการขับเคลื่อบีซีจีนั้นถือเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลัก 3 ด้านสำคัญที่จะต้องมีการพัฒนาร่วมกันอย่างสมดุล ได้แก่
1. เศรษฐกิจชีวภาพ (B: Bio economy) เป็นการนำทรัพยากรทางธรรมชาติหรือผลผลิตทางการเกษตร มาพัฒนาต่อยอดโดยใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่า เชื่อมโยงกับ
2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (C: Circular economy) ที่คำนึงถึงการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยเน้นแก้ไขวงจรปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากร มลพิษและของเสีย รวมถึงการมุ่งไปสู่การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (zero waste)
3. เศรษฐกิจสีเขียว (G: Green economy) ที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อโลกอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
โมเดลเศรษฐกิจบีซีจีเป็นโมเดลที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปที่มีข้อจำกัดหลายประการในอนาคต จากข้อมูลของสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ชี้ว่า แรงงานในภาคเกษตรมีจำนวนสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด แต่รายได้กลับไม่มากนักเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ลดน้อยลง ประชากรมีจำนวนลดลง ในอนาคตจะเปลี่ยนไปทั้งเทคโนโลยี การก้าวเข้าสู้สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มแรงงานที่มีแนวโน้มจำนวนลดลงนั้น การเตรียมรับมือถือเป็นเรื่องสำคัญ
โมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นที่ใช้ความรู้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือสามารถปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว ซึ่งโมเดลบีซีจีนี้จึงจะเข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตสอดรับกับแนวทางการพัฒนาในภาพใหญ่ของโลก และทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
คณะกรรมการขับเคลื่อนขีดเส้น 5 ปีเห็นผลสำเร็จ
ในแง่ของการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจบีซีจีหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาขับเคลื่อน ภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีกระทรวง รวมทั้งกระทรวงที่เกี่ยวข้องนับสิบกระทรวงเข้ามาเป็นกรรมการ
โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำหลายโอกาสเกี่ยวกับการเดินหน้าโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี โดยเฉพาะการผลักดันภาคเกษตรให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวาระของโลก รวมไปทั้งการลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สภาพภูมิอากาศเปลี่ยน โดยเฉพาะการลดการใช้พลังงานที่มาจากฟอสซิลถือว่าเป็นแผนที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยได้ประกาศเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030 และปล่อยก๊าซเรือนเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2065
ส่วนในแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี พ.ศ. 2564-2569 นายกรัฐมนตรีให้นโยบายในการดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจบีซีจีใช้จุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้น โดนายกรัฐมนตรีกำหนดว่าแผนในระยะแรกจะต้องสำเร็จภายใน 5 ปี เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในภาพรวมด้วย
วาง 4 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม
ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจีตามแผนที่มีอยู่ของรัฐบาล ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1: สร้างความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพด้วยการจัดสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์
ยุทธศาสตร์ที่ 2: การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้ศักยภาพของพื้นที่โดยการระเบิดจากภายใน เน้น “ความหลากหลายทางชีวภาพ” และ “ความหลากหลายทางวัฒนธรรม” ยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนด้วยความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาให้ความสำคัญกับระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบ “ทำน้อยได้มาก”
และยุทธศาสตร์ที่ 4: เสริมสร้างความสามารถในการตอบสนองต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก สร้างภูมิคุ้มกันและความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างเท่าทันเพื่อบรรเทาผลกระทบ
ธนาคารโลกแนะไทยเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียนสร้างการเติบโต
ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั่วโลก จากทั้งผลกระทบจากสงครามที่ยิดเยื้อ และเศรษฐกิจที่อาจมีการถดถอยได้ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือ 2.9% จากเดิมที่เคยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.9% แต่ได้ให้การสนับสนุนแนวนโยบายเรื่อง BCG ที่รัฐบาลไทยต้องการสนับสนุนให้เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่าเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบภายนอกด้านลบจากสงครามในยูเครนและมาตรการปิดเมืองของจีน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้จากการวิจัยของธนาคารโลกพบว่า การเร่งเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถเพิ่มผลผลิตและการจ้างงาน โดยจะทำให้จีดีพีของประเทศไทยในอนาคต เพิ่มขึ้นได้ประมาณ 1.2% และช่วยให้เกิดการจ้างงานประมาณ 160,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2573 หรือคิดเป็น 0.3% ของการจ้างงานทั้งหมด
นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยป้องกันประเทศไทยจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงและมีความผันผวน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5% ภายในปี 2573
ด้านนายไฆเม ฟรีอัส นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลก บอกว่าปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรในประเทศไปให้ผู้มีรายได้น้อย ทำให้มีความจำเป็นยิ่งขึ้นที่ประเทศไทยต้องเลือกใช้แนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาเชิงนโยบายที่จะลดการเติบโตทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรจำนวนมาก โดยมีความจำเป็นที่ต้องสร้างความร่วมมือระกว่างภาครัฐ และภาคเอกชน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปที่ตรงเป้าหมาย จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการปลดล็อคศักยภาพของประเทศไทยด้วย