สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ค. 65
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.พังงา (151) จ.จันทบุรี (85) และจ.น่าน (84)
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,216 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,307 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย จำนวน 2 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (2 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 4 แห่ง
พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.ตราด ระนอง และพังงา
กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำท่วมขังลุ่มน้ำลำเชียงไกร ลงแม่น้ำมูล อย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบประชาชน ตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ตามที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำลำเชียงไกร บริเวณ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ที่ถูกน้ำท่วมนั้น กรมชลประทาน ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ด้วยการผันน้ำลงสู่ลำสะแทด และแม่น้ำมูลอย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดบานประตูระบายน้ำในลำเชียงไกรตอนล่างทุกแห่ง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูลให้เร็วที่สุดด้วย ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายลงสู่ลำสะแทดและแม่น้ำมูลนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อลำน้ำทั้ง 2 แห่งแต่อย่างใด เนื่องจากยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีกมาก นอกจากนี้ ยังได้จัดส่งเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของลุ่มน้ำลำเชียงไกร ขณะนี้ระดับน้ำลดลงตามลำดับแล้ว คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักมาเพิ่ม สถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับ ฤดูฝน ปี 2565
1.1 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ดำเนินการตรวจสอบอุปกรณ์วัดระดับน้ำ ที่จะใช้ติดตั้งในบริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่แก้มลิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ให้สามารถตรวจวัดระดับน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และได้สำรวจปริมาณผักตบชวาและวัชพืชตามแม่น้ำ วิเคราะห์ และชี้เป้าตำแหน่งผักตบชวาและวัชพืชในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางทั้ง 19 จังหวัด และบริเวณลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกบางส่วน เพื่อส่งให้กรมโยธาธิการและผังเมือง นำไปใช้วางแผนและแก้ไขปัญหาต่อไป
1.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้นำรถขุดตักไฮดรอลิคแบบแขนตักยาว และรถขุดตักไฮดรอลิคแบบเจาะกระแทก ปฏิบัติการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำในลำตะคอง และรื้อถอนฝายบ้านพุดซา ตำบลพะเนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
2. สภาพอากาศ
การคาดการณ์สภาพอากาศ วันที่ 30 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย. 65 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
3. สถานการณ์อุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ดังนี้ – จังหวัดบึงกาฬ เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ เทศบาลเมืองบึงกาฬ อำเภอเมืองฯ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดบึงกาฬ เข้าสำรวจความเสียหายพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จังหวัดพังงา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลบางเตย และหมู่ที่ 2 ตำบลทุ่งคาโงก อำเภอเมืองฯ บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 15 ครัวเรือน โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับจังหวัดพังงา เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว บัจจุบันระดับน้ำลดลง
4. มาตรการและการช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถขุดตักไฮดรอลิคแบบแขนตักยาว รถหัวลาก รถยนต์กู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ลงพื้นที่สูบน้ำในเขต ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย และขุดระบายน้ำรวมถึงกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบาย