ครม.หนุน 5 โครงการ National e-Payment
“โฆษกคลัง” เผย ครม.มีมติรับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment แล้ว มั่นใจ 5 โครงการหลักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันและพัฒนาระบบการชำระเงินของไทย สู่ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ครบวงจร พร้อมมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าสเต็ปต่อไปทันที
การรายงานผลการดำเนินการของคณะกรรมการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมฯได้รับทราบผลการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
โครงการที่ 1 ระบบการชำระเงินแบบ Any ID และโครงการที่ 2 การขยายการใช้บัตร โดยทั้ง 2 โครงการต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทยให้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และเป็นช่องทางในการจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำแทนการใช้เงินสด
โดยปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกประเภทแล้ว จำนวน 46.5 ล้านราย และมีปริมาณธุรกรรมทั้งสิ้น 1.1 พันล้านรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมทั้งสิ้น 5.8 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2561) และได้มีการติดตั้งอุปกรณ์รับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง Electronic Data Capture : EDC) แล้วทั้งสิ้นจำนวน 768,103 เครื่อง
ทั้งนี้ การดำเนินการในระยะต่อไป ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – 2564) โดยมุ่งส่งเสริมให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินและสร้าง Ecosystem ที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม และตอบโจทย์ความต้องการของทุกภาคส่วน
โครงการที่ 3 ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนในการจัดทำ รวมทั้งการนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินและการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ทั้งนี้ กรมสรรพากรได้ดำเนินการคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านพร้อมเพย์แล้ว ในปีภาษี 2560 และมีการจัดทำระบบ e-Tax Invoice และ e-Receipt ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วในปี 2560 นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์ National e-Payment ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.61
สำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป กรมสรรพากรจะดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เสียภาษีเพื่อการบริการที่ดีและการแนะนำการเสียภาษีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ