“MILL” แปลงโฉม ธุรกิจเหล็ก สู่ Green Steel

“แนวทางการดำเนินธุรกิจ แบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ทำธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดโลกร้อน ถือเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก”

ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร ของไทย ได้มีการปรับตัว และให้ความสำคัญกับ Circular Economy มาโดยตลอด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการเป็น Green Steel ในที่สุด

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง MILL กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ปี 2565พร้อมกับบอกว่า ปัจจุบัน MILL ได้ ดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy ไปบางส่วนแล้ว อย่างเช่น การคัดแยกเหล็กและยางรถยนต์ โดยนำเศษเหล็กไปผลิตเหล็ก เพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนยางก็นำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ ลดการสูญเสีย และสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ เป็นต้น
รวมทั้งกระบวนการผลิตของ MILL ก็ได้มีการรองรับ แนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน พร้อมที่จะเดินไปสู่การเป็น Green Steel เต็มรูปแบบ

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 นั้น นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ MILL กล่าวเพิ่มเติมให้ฟังว่า บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง จากไตรมาส 3/2564 ที่บริษัทมีรายได้รวม 2,580 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 54 ล้านบาทหรือ 2% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 222 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 4,374%
เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการแข่งขัน
นอกจากนี้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น

ขณะที่นายศุภมงคล มาโนช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นลูกของบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) บอกว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน จากเดิมที่บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการเศษเหล็กและซื้อขายเศษเหล็ก โดยเป้าหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้บริษัทต้องการจะเป็นศูนย์กลาง carbon credit ของกลุ่มบริษัทในเครือมิลล์คอน สตีล
นอกจากนี้ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Decarbonization

อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัทในการบริหารจัดการเศษเหล็ก บริษัทนำเทคโนโลยีของเครื่องจักรมาใช้บริหารจัดการเศษเหล็ก สามารถบดย่อยเศษเหล็กให้มีขนาดเล็กลง ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการประหยัดพลังงานในการหลอม (Recycle Process) เหล็กที่ได้จะถูกปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง
สำหรับชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง ที่ถูกคัดแยกสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถลดขยะที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก Zero waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านนายทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะช่วยสนับสนุนในการหาพลังงานสะอาดให้กับกลุ่มมิลล์คอน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม
โดยล่าสุด ได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในโรงงานเหล็ก เริ่มต้นเฟสแรกไปแล้วประมาณ 4 เมกกะวัตต์
นอกจากนี้ เดอะ เมกะวัตต์ ยังมีแผนที่จะไปรับเชื้อเพลิงที่ผลิตจากบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด มาเพื่อเป็นแหล่งพลังงานป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม อีกด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อ ผลักดัน ซันเทค เป็นศูนย์กลาง carbon credit ในอนาคตอีกด้วย