อุตตม แก้กม.ยกเลิกต่ออายุใบ รง.4
ผู้ประกอบการโรงงานกว่า 80,000 รายเตรียมเฮ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ลุยยกเครื่องแก้กฎหมายยกเลิกอายุของใบอนุญาตรง.4 ลดขั้นตอนและประหยัด ปิดช่องครหาเรียกรับผลประโยชน์ทุกชนิด
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เร่งทำการปฏิรูปกระบวนการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรมทุกมิติเพื่อรองรับนโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสทุกขั้นตอน ล่าสุดเตรียมปลดล็อคกระบวนการขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ใหม่ ให้กับผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศกว่า 80,000 รายสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องโดยไม่ติดขัดเรื่องนี้อีกต่อไป
สำหรับกฎหมายเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเป็นฝ่ายทำเรื่องเสนอให้กระทรวงพิจารณา มีขั้นตอนและใช้เอกสารประกอบการยื่นคำขอค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อยื่นเรื่องแล้วก็ต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิจารณาความถูกต้องของเอกสาร จากนั้นจึงจะนัดหมายไปตรวจโรงงาน หากพบว่าไม่เรียบร้อยก็ต้องแก้ไขปรับปรุงและต้องกลับไปตรวจโรงงานอีกครั้ง กระบวนการเดิมใช้เวลามาก จึงทำให้ไม่สะดวกและเกิดความล่าช้ากับผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศ ซึ่งในระยะเวลา 5 ปีจาก 2562-2566 มีโรงงานต้องดำเนินการมากกว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศ
ส่วนแนวทางใหม่ที่จะแก้ไข ถือว่าเป็นการปฏิรูปใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ คือการยกเลิกอายุของใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ไม่ใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดของกฎหมายการต่ออายุใบอนุญาต เรียกว่าแก้ที่ต้นทางคือเมื่อยกเลิกอายุของใบอนุญาตก็เท่ากับไม่จำเป็นต้องมีการต่ออายุเช่นเดิมอีกต่อไป
ทั้งนี้จะเปลี่ยนหลักการเป็นให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเองหรือ Self-declared ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าการประกอบกิจการได้มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย โดยกำหนดให้มีการแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการควบคุมกำกับดูแลทั้งด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม และจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกระทรวงอุตสาหกรรม (Third Party) ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่งเพื่อป้องกันการรับรองเท็จ
นายอุตตม กล่าวว่า มาตรการนี้จะส่งผลดีชัดเจนแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และ ลดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในกระบวนการต่อใบอนุญาต ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงก็คือผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศประมาณ 80,000 ราย ที่สำคัญผมมั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยสร้างความสนใจดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกมาลงทุนเพิ่มในประเทศไทยได้มาก โดยผมจะให้เร่งนำเสนอแก้ไขข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาภายในเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและมีผลบังคับใช้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการในต้นปีหน้า.