คลังร่วมเอเปคถก IFMM with ABAC ดันเศรษฐกิจสู้โควิดฯ
“อาคม” มอบให้ “โฆษกคลังและผอ.สศค.” เข้าประชุม “รมต.คลังเอเปค ถกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ”หรือ IFMM with ABAC ผ่านระบบออนไลน์ เผย! ที่ประชุมฯดึงภาคเอกชนหนุนประชาชนและภาคธุรกิจ หวังได้เห็นภาคธุรกิจฟื้นตัว หลังซมพิษโควิดฯมานาน พร้อมร่วมมือหาทางสู้ไวรัสตัวร้าย สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2564 น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง มอบหมายให้ตนเข้าร่วมการประชุม “รมต.คลังเอเปคร่วมกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคอย่างไม่เป็นทางการ” (Informal Finance Ministerial Meeting with APEC Business Advisory Council: IFMM with ABAC) ด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นาย Grant Robertson รมว.คลัง นิวซีแลนด์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจและสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค
การประชุม IFMM with APEC ครั้งนี้ นับเป็นการประชุมระดับ รมต.ครั้งแรกในปี 2564 ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการหารือร่วมกับภาคเอกชนถึงแนวทางการดูแลและสนับสนุนประชาชนและภาคธุรกิจ รวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ
โดยที่ประชุมเห็นพ้องว่า การบริหารจัดการกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังคงเป็นประเด็นที่เขตเศรษฐกิจเอเปคต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดจำนวนผู้ติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อ และการกระจายวัคซีน เพื่อนำไปสู่การเปิดพรมแดนซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
พร้อมกันนี้ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและทั่วถึงซึ่งถือเป็นเป้าหมายของการฟื้นตัวจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ทั้งนี้ ประเด็นที่มีการหารือในที่ประชุมฯ ประกอบด้วย 1) ผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 2) นโยบายเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และ 3) แนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน โดย ที่ประชุมฯ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้อาศัยในพื้นที่ห่างไกล และกลุ่มที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบดิจิทัลและเทคโนโลยี การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การวิจัยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล การดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนโยบายเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
รวมไปถึง การให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูการค้าและการลงทุนซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการฟื้นฟูระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เครื่องมือทางการแพทย์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น.