บสย.จัดหมื่นล. ค้ำกู้! ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว
บสย.เตรียมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เหยื่อโควิด-19 เผย! จัดไปก่อน “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ค้ำประกันเงินกู้ 1.5 เท่า เน้นอุ้มเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง เริ่ม 2 มี.ค. นี้ เพิ่มอัดฉีดMax Claim35% คาดสร้างสินเชื่อหมุนเวียนในระบบ 15,000 ล้านบาท พยุงการจ้างงาน 180,000 รายจากนั้น ช่วงเมษายน จัดอีก 2 โปรเจ็กต์ ช่วยเอสเอ็มอี กลุ่มใกล้เป็นและเป็น NPL แล้ว คาดวัคซีนโควิดฯ ดึงนักเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปลายไตรมาส 3
ความจนไม่ใช่พันธุกรรม! แนวคิดที่ถูกปลูกฝังในหัวของ “คน บสย.” (บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม) ยุคที่มี กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ชื่อ นายรักษ์ วรกิจโภคาทร
นั่นจึงนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาให้กับ ผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ “กลุ่มคนตัวเล็ก” ที่ประสบปัญหาด้านธุรกิจและมีภาระหนี้สิน เพื่อหวังต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้…ได้เดินหน้าต่อไปได้
โดยเฉพาะ กลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
หนึ่งปีก่อนหน้านี้ บสย.จัดโครงการ โครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 1” วงเงินค้ำประกัน 5 พันล้านบาท ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ขอรับการสนับสนุนเต็มวงเงิน ทว่ามีสัดส่วนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเพียง 10% ที่เข้าร่วมโครงการฯ
ดังนั้น ปีนี้ บสย.จึง “โฟกัส” ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ ภายใต้ชื่อโครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” พร้อมปรับเพิ่มวงเงินค้ำประกันเป็น 1 หมื่นล้านบาท และยังคงฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรกเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์พิจารณาปล่อยสินเชื่อของธนาคารจำเป็นต้องดูจากฐานลูกค้านักท่องเที่ยวของกลุ่มผู้ประกอบการฯด้วย นั่นหมายความว่า…กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง ที่มีฐานลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย จะได้รับการพิจารณาก่อน
ทั้งนี้ นายรักษ์ คาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง 1.5 หมื่นราย เข้าถึงสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละรายสามารถขอรับเงินกู้ได้ตั้งแต่ 2 แสนบาท จนถึง 100 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ สามารถพยุงการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจมากถึง 1.8 หมื่นราย
ขณะที่ กลุ่มผู้ประกอบการฯที่เคยเน้นลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องปรับบทบาทตัวเอง โดยหันไปเน้นลูกค้านักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงนี้ อย่างน้อยก็จนกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาใหม่ คาดว่า หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดฯแล้ว น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยช่วงปลายไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4
“โครงการนี้ยังสนับสนุนให้ธนาคารทั้ง 18 แห่ง ซึ่ง 3 ใน 4 เป็นธนาคารพาณิชย์ ที่เหลือเป็นธนาคารของรัฐ สามารถพิจารณาสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ด้วยอัตราการช่วยเหลือค่าประกันชดเชย (Max Claim) สูงถึง 35% ซึ่งถือเป็นการชดเชยความเสียหายในอัตราสูงที่สุดของโครงการค้ำประกัน บสย.” นายรักษ์ ย้ำและว่า นอกจากนี้ บสย.ยังมีแผนจะค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในกลุ่มที่ใกล้จะเป็นหนี้เสีย (NPL) และกลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้วอีก 2 ครั้งในช่วงเดือนเมษายนนี้ รวมวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเพิ่ม Max Claim เป็น 40% ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารตัดสินใจปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่อง สามารถรับคำขอในโครงการ “บสย. SMEs ไทยสู้ภัยโควิด 2” ได้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2564.