ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล
คสช.ออกมาตรา 44 อุ้มทีวีดิจิทัล พักชำระหนี้ค่าใบอนุญาตเป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมลดค่ามักซ์ ลงเหลือ 50% เป็นระยะเวลา 24 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561 เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระ จายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบกิจการที่สุจริต แต่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่อาจชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดไปแล้วนั้น
โดยที่ในปัจจุบันภาวะดังกล่าวยังคงปรากฏอยู่และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจ ในขณะที่ส่วนแบ่งรายรับจากการประกอบกิจการลดลงอีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคสื่อของประชาชนก็เปลี่ยน แปลงไปอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมายทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม (Technological Disruption) โดยเฉพาะการแก้ปัญหาในการเปลี่ยนผ่านระบบการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัล ซึ่งแม้ปัญหาดังกล่าวเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจและขึ้นอยู่กับความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวของผู้ประกอบกิจการ แต่มีบางส่วนเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐที่จะต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึง การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเสรีภาพของประชาชน
นอกจากนั้น หากปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่นักลงทุนหรือผู้ประกอบกิจการที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากรัฐในกิจการที่การลงทุนมีมูลค่าสูง และเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญก่อให้เกิดการจ้างงานและอาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมาอีกเป็นอันมาก ซึ่งหากประสบภาวะวิกฤติก็จะส่งผลกระทบไปถึงภาคส่วนอื่น ๆ และประชาชนในวงกว้าง รัฐจึงควรมีมาตรการบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อันเนื่องมาจากผลกระทบดังกล่าว เพื่อให้สามารถประกอบกิจการและชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ได้ในที่สุดบนพื้นฐานความเป็นจริงในสังคม โดยไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบและไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และความเป็นธรรมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยพิจารณาไม่ให้ภาครัฐและประชาชนเสียหายเมื่อเปรียบเทียบกับการบังคับการให้เป็นไปตามกติกาเดิมอย่างเคร่งครัด และการให้ผู้ประกอบกิจการได้ใช้เวลา โอกาสและทุนในการพัฒนาศักยภาพการให้บริการ และการผลิตหรือการเผยแพร่รายการที่มีคุณภาพให้ทันต่อความต้องการของสังคม และเทคโนโลยี ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันสมควรให้กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะองค์กรสื่อของรัฐสามารถมีรายได้จากการโฆษณาได้ตามความจำเป็น และเพียงพอต่อการพัฒนาภารกิจด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพให้ทันต่อความต้องการของรัฐและสังคมตลอดจนทันต่อเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน โดยต้องไม่เป็นการประกอบธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร
ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำหนด ซึ่งมาตรการบรรเทาความเสียหายเหล่านี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว และถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปกิจการด้านสื่อสารมวลชนซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีความมั่นคงและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยมาตรการแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ส่วนของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ให้ทีวีดิจิทัล พักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตได้ โดยไม่ตัดสิทธิจากการเป็นผู้รับใบอนุญาต และให้ กสทช.สนับสนุนค่าใช้ จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) หรือมักซ์ เป็นจำนวนเงิน 50 % ของค่าเช่าโครงข่ายเป็นเวลา 24 เดือน
และส่วนที่ 2 คือ มาตรการส่งเสริมการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ อาจมีรายได้จากการหาโฆษณาได้เท่าที่จำเป็น และเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์ โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากำไรทางธุรกิจ
โดยคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และในกรณีที่เห็นสมควร นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)แถลงภายหลังมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 9/2561เรื่อง มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ว่า ขอให้ทุกช่องมายื่นเรื่องขอพักการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตภายในวันนี้ (23 พ.ค.) โดยกสทช.จะพิจารณาให้ความชัดเจนภายใน 1 สัปดาห์
สำหรับการพิจารณาพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กสทช. ไม่ได้พิจารณาให้ทุกช่อง โดยการพิจารณาจะดูจากพฤติกรรมของผู้ประกอบการแต่ละสถานีว่าเคยฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. หรือไม่โดยหากผู้ประกอบการเคยผ่าฝืนคำสั่งคสช.อาจจะไม่ได้รับการพิจารณา หรือแม้กระทั่งได้รับการขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมแล้วแต่ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.กสทชก็อาจจะเพิกถอนสิทธิในการชำระค่าธรรมเนียม ทาง ผู้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ก็สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์การขอพักการจ่ายเงินค่าประมูลช่องทีวีดิจิทัลภายในวันที่ 23 พ.ค.นี้ โดยจะได้รับสิทธิ์พักชำระค่าประมูลเป็นเวลา 3 ปี แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% และกสทช.สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล 50% เป็นเวลา 24 เดือน ซึ่งกสทช.จะพิจารณารายละเอียดของการช่วยเหลือดังกล่าว
โดย ในวันนี้ (23 พ.ค.) มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จำนวน 20 ช่องที่ขอใช้สิทธิพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต เมื่อเวลา 16.00 น.เรียบร้อยแล้ว ยกเว้นช่อง 7 และช่องเวิร์คพอยท์ ของบมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ที่ได้ชำระเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ช่องทีวีดิจิทัลที่เข้ามายื่นใช้สิทธิ ได้แก่ ช่องเด็ก คือ ช่อง 13 (3 Family) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 14 (MCOT Family) บมจ.อสมท. (MCOT)
ช่องข่าว ได้แก่ ช่อง 16 (TTN24) บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด, ช่อง 18 (NEW18) บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด, ช่อง 19 (สปริงนิวส์) บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด, ช่อง 20 (ไบรท์ทีวี) บริษัท ไบร์ท ทีวี จำกัด, ช่อง 21 (Voice TV) บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด, ช่อง22 (Nation TV) บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด
ช่องวาไรตี้ ได้แก่ ช่อง24 (True4U) บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด, ช่อง 25 (GMM25) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนเนล จำกัด, ช่อง 26 (NOW) บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด, ช่อง 27 (ช่อง 8) บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด, ช่อง28 (3SD) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, ช่อง 29 (MONO29)บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด
ช่องวาไรตี้ความคมชัดสูง ได้แก่ ช่อง 30 (MCOT HD) บมจ.อสมท. (MCOT), ช่อง 31 (ONE) บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด, ช่อง 32 (ไทยรัฐทีวี)บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด, ช่อง 33 (3HD) บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด, ช่อง 34 (อมรินทร์ทีวี) บริษัท เมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด, ช่อง 36 (PPTV HD) บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด
“หากช่อง35 (7 เอชดี)และช่อง23 เวิร์คพอยท์ จะขอใช้สิทธิ์ขยายระยะเวลาการชำระ3 งวดเป็น 6 งวด และพักชำระค่าประมูล3 ปี ก็สามารถมายื่นคำร้องขอใช้สิทธิ์ได้ในงวดถัดไป แต่ไม่เกิน3ปี แต่ถ้าไม่ขอใช้สิทธิ์ใดๆทั้ง2 ช่อง ก็จะเหลือยอดชำระค่าประมูลอีกเพียงงวดเดียว ซึ่งตัองชำระในวันที่ 23 พ.ค.2562 ส่วนอีก20 รายที่ใช้สิทธิ์พักชำระค่าประมูล ก็มาชำระงวดที่ 5 ในปี2564”
ส่วนกรณีการประกาศให้กรมประชาสัมพันธ์สามารถหาเงินรายได้จากการโฆษณาได้ กสทช. จะต้องมีการยกร่างหลัก เกณฑ์ ในการให้สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของกรมประชาสัมพันธ์โฆษณาได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาออกหลักเกณฑ์ภายใน 1 เดือน ถึง 1 เดือนครึ่ง หรือเร็วกว่านั้น.