โควิดฯดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยพุ่ง! อีคอมเมิร์ซโต 81%
นักวิชาการธรรมศาสตร์ เผย! เศรษฐกิจดิจิทัล “คอมเมิร์ซ – ธุรกิจเรียกรถและสั่งอาหารออนไลน์ – ท่องเที่ยวออนไลน์ – สื่อออนไลน์” ในไทยปี’63 มีมูลค่าสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท คาดเติบโตเฉลี่ย 25% ต่อปี ไปอีก 5 ปี แตะถึง 1.59 ล้านล้านบาท ระบุโควิดฯ ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตถึง 81% กับมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท แนะภาครัฐปรับตัวและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ แทนการออกกฎหมายฉุดรั้งเศรษฐกิจดิจิทัล
ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผศ.ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัลกล่าวถึงภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และในประเทศไทย อ้างอิงจากรายงาน e-CONOMY SEA 2020 โดย Google, Temasek, Bain & Company ว่า การใช้อินเทอร์เน็ตในอาเซียนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่ามีผู้ใช้รายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 40 ล้านราย จาก 360 ล้านรายในปี 2562 เป็น 400 ล้านรายในปี 2563
โดย ค่าเฉลี่ยใช้อินเตอร์เน็ตของคนอาเซียนเฉลี่ยมากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่คนไทยใช้เวลา มากถึง 3.7 ชั่วโมงต่อวัน และช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (ล็อกดาวน์) ขยับเป็น 4.6 ชั่วโมง โดยค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 4.3 ชั่วโมงต่อวัน โดยผู้ใช้ 8 ใน 10 รายมองว่าเทคโนโลยีมีประโยชน์อย่างมากในช่วงโควิด และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจําวัน
จากแนวโน้มการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2563 เติบโตมากถึง 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านับเป็นการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากธุรกิจท่องเที่ยวและการขนส่งที่หดตัวลงเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางได้
ทั้งนี้ มูลค่าสินค้า (GMV) ในระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยในปี 2563 (2020) มียอดรวม 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ว่า ปี 2568 (2025) เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.59 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึง 25% ต่อปี
สำหรับ ธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ และการสั่งอาหารออนไลน์ในไทยปี 2563 พบว่า มีมูลค่ารวมสูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาท คาดการณ์ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งให้ทั้ง 2 ธุรกิจเติบโตสูงขึ้นเฉลี่ย 45% ต่อปี ต่อเนื่องจนถึงปี 2568 (2025)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลดีต่อธุรกิจบริการสั่งอาหารออนไลน์ที่เติบโตถึงกว่า 42% ต่างจากธุรกิจบริการเรียกรถผ่านแอปฯ กลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยติดลบถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากนโยบายล็อคดาวน์ในช่วงเริ่มต้นของการแพร่ระบาด การหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน เทรนด์การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) รวมถึงผลกระทบจากการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลายสิบล้านคน
“หากมองย้อนกลับไปในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะแอปพลิเคชันในการสั่งอาหารออนไลน์และบริการเรียกรถออนไลน์ ในกลุ่มอาเซียนและในประเทศไทย ถือว่าเติบโตขึ้นอย่างมาก ความเข้มแข็งของธุรกิจดิจิทัลเหล่านี้ ได้ช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจสามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในช่วงที่โควิดระบาด ขณะเดียวกันภาครัฐในฐานะผู้กำกับดูแล (Regulator) เอง ก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน”
ดร.สุทธิกร แสดงความเห็นกรณีภาครัฐผลักดันให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ว่า เป็นเรื่องดีและควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่การที่ภาครัฐ โดยกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารแบบบริการทางเลือก พ.ศ. …. (ร่างกฎกระทรวงฯ) โดยกำหนดเงื่อนไขการกำหนดโควต้านั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องพิจารณาปรับแก้ไข โดยตัดส่วนนี้ออกก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
“เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐจะผลักดันให้มีรถยนต์โดยสารแบบบริการทางเลือก (เรียกรถผ่านแอปฯ) ถูกกฎหมาย แต่การผลักดันและส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น ภาครัฐจะทำงานหรือกำหนดตัวบทกฎหมายในรูปแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องเปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการเลือกทำอาชีพใดๆ รวมถึงกลไกตลาด และที่สำคัญบริบทด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ซึ่งการควบคุมแบบเดิมๆ อย่างการกำหนดโควต้าอาจจะเป็นเรื่องล้าหลังที่ถ่วงการพัฒนาของภาคธุรกิจ” ดร.สุทธิกร ระบุและย้ำว่า
การกำหนดโควต้า (จำนวนรถยนต์หรือคนขับ) นั้น อาจไม่สอดคล้องกับระบบอุปสงค์อุปทานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ถ้ามีการให้โควต้าน้อยเกินกว่าปริมาณความต้องการ เมื่อจะมาเพิ่มจำนวนในภายหลัง อาจจะต้องผ่านขั้นตอนการอนุมัติมากมายของหน่วยงานราชการ จนไม่ทันการกับสถานการณ์ความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด
ยกตัวอย่างในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า มีปริมาณการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้นอย่างทวีคูณ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างมีคนขับไม่เพียงพอกับการสั่งอาหาร ซึ่งการที่ภาครัฐไม่ได้จำกัดโควตารถส่งอาหารทำให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้ทันที โดยในช่วงล็อคดาวน์ปีที่แล้ว ผู้ให้บริการอย่าง Grab สามารถเปิดรับคนขับเพิ่มได้กว่าครึ่งแสน ช่วยตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและยังช่วยสร้างรายได้ทดแทนให้กับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โควิด
และในปีนี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง LINE MAN เองก็มีแผนจะเปิดรับคนขับส่งอาหารเพิ่มอีกใน 29 จังหวัด รวมถึงรายอื่นๆ เองก็มีแผนจะเข้ามาดำเนินธุรกิจในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันที่มีมากขึ้น
“แทนที่ภาครัฐจะออกกฎมาควบคุมการบริการเรียกรถผ่านแอปฯ โดยเฉพาะการกำหนดโควต้า ควรหันไปลดเงื่อนไขและข้อกำหนดที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระกับผู้ขับขี่รถแท็กซี่จะดีกว่าไหม? เพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และเกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญผลประโยชน์จะได้ตกอยู่กับผู้บริโภค (ผู้โดยสาร) ได้มากที่สุด” ดร.สุทธิกร ระบุ
ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจดิจิทัล มองว่า ประเทศไทยคือสวรรค์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ แม้เราจะมีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่กลับไม่มีธุรกิจในกลุ่ม “ยูนิคอร์น” ขณะที่อินโดนีเซียมีมากถึง 4-5 ราย หลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ “สตาร์ทอัพ” ของไทยพัฒนาก้าวสู่การเป็น “ยูนิคอร์น” ในอนาคต
นอกจากนี้ ภาครัฐยังต้องส่งเสริมสนับสนุนด้านองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ไปสู่ภาคประชาชนให้มาก ยิ่งประชาชนมีองค์ความรู้มากเท่าใด โอกาสที่จะสร้าง “ตัวคูณ” ทางเศรษฐกิจ จากทำคลิปออนไลน์ส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเพิ่มยอดคนดู ยอดขายสินค้า และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมากเท่านั้น ซึ่งสุดท้าย ทั้งคนไทยและประเทศไทย จะได้ประโยชน์จากการนี้ร่วมกัน
ดร.สุทธิกร กล่าวทิ้งท้ายว่า การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และภาครัฐเองจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลักดันประเทศให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ในส่วนการควบคุมและกำกับดูแลนั้นเป้าหมายหลักคือเพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปกป้องผู้ประกอบการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ไม่ต้องการปรับตัว.