RCEPเอื้อไทยเกาะติดห่วงโซ่การผลิตของเอเชีย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะจับตา RCEP กรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและเป็น FTA ที่เปิดกว้างที่สุดเท่าที่ไทยเคยมี เชื่อเอื้อให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตของเอเชียได้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น แนะในอนาคตธุรกิจต้องปรับตัว
ในที่สุด RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ รวมกับ Plus 5 คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็สามารถบรรลุการเจรจา โดยจะลงนามความตกลงระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเมื่อแต่ละประเทศให้สัตยาบันก็น่าจะเริ่มเปิดเสรีได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2564
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้อาเซียนจะมี FTA กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์อยู่แล้ว แต่การรวมเป็น RCEP โดยมีเป้าหมายการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ให้มากที่สุด ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความน่าสนใจให้ทัดเทียมกับ CPTPP แต่ในความเป็นจริงทั้งสองความตกลงไม่สามารถทดแทนกันได้ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตที่ RCEP เน้นหนักไปยังภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ CPTPP น่าสนใจตรงที่สามารถเชื่อมห่วงโซ่การผลิตกับในภูมิภาคอเมริกาได้มากกว่า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในความเป็นจริงแล้วสินค้าไทยที่ได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากความตกลง RCEP นี้มีไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เปิดเสรีการค้าไปแล้ว แต่การเคลื่อนย้ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่อยู่ในเครือข่ายห่วงโซ่การผลิตของนักลงทุนน่าจะทำให้ไทยได้อานิสงส์เพิ่มเติม อาทิ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เซมิคอนดักเตอร์และ ICs อีกทั้ง RCEP ยังเอื้อให้ไทยสามารถเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตของเอเชียได้อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า FTA เป็นอีกปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญในการวางแผนขยายธุรกิจด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเลือกว่า 1) ปรับตัวให้สอดรับกับมาตรฐานของความตกลง FTA ที่มีมาตรฐานสูง โดยเข้าร่วมเจรจากับ CPTPP หรือเจรจากับสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ตลอดจนอังกฤษ หรือ 2) ปรับตัวให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติแม้ไม่มี FTA กับชาติตะวันตก ซึ่งไม่ว่าจะทางไหนไทยก็ต้องปรับตัวเพราะมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ซึ่งภาครัฐบาลไทยต้องเตรียมมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่ดี