เปิดยุทธศาสตร์ ธอส.ปี 64-65 แกร่งทุกมิติ
ธอส.เปิดแผนยุทธศาสตร์ ปี 64-65 พุ่งเป้า “ทำให้คนไทยมีบ้าน” และรักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ก่อนขึ้นชั้นเป็น Digital Bank ในอนาคต คาด 2 ปีหน้าข้างโตทุกมิติ ย้ำ! กำไรอาจลด เพราะเพิ่มตั้งสำรอง เสริมแกร่งรับความเสี่ยง หวังมี Digital Transaction ไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวน Transaction ทั้งหมดในปี 65
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ พร้อมคณะผู้บริหาร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมแถลงข่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ ปี 2564-2565 ว่า ธนาคารยังคงมุ่งมั่นดำเนินการตามพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” รักษาความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ด้วยการมีสินเชื่อคงค้างจำนวน 1 ใน 3 ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบสถาบันการเงิน
ล่าสุด ณ วันที่ 1 ต.ค.2563 ธนาคารฯสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 156,650 ล้านบาท และมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมายปี 2563 ที่210,000 ล้านบาท ด้วยปัจจัยสนับสนุน คือ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นการขายของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เป็นโอกาสของประชาชนที่รายได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ได้มีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น
ขณะที่ปี 2564 ธนาคารฯตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 215,641 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 222,110 ล้านบาท ในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 3% ตามลำดับ ด้วยสินเชื่อคงค้างในปี 2564 ที่ 1.374 ล้านล้านบาท และเพิ่มเป็น 1.444 ล้านล้านบาท ในปี 2565 โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับการให้บริการลูกค้าขึ้นสู่ Digital Platform เพื่อ รองรับการเป็น Digital Bank ในอนาคต อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารฯได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน เพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ต่ำลงอีก
โดยตั้งเป้าหมายให้มี Digital Transaction ไม่ต่ำกว่า 80% ของจำนวน Transaction ทั้งหมดในปี 2565 ด้วยแผนงาน/โครงการสำคัญที่สนับสนุนการเป็น Digital Bank ประกอบด้วย…
1.โครงการ New Normal Services พัฒนาบริการใหม่ของธนาคารบน Mobile Application : GHB ALL เพื่อรองรับ Lifestyle ลูกค้าแบบ New Normal ตามที่ธนาคารฯได้เปิดให้บริการใน Phase ที่ 1 จำนวน 6 บริการ ไปแล้วเมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา
2.โครงการ Tollway Loan Plus เป็นการยกระดับความร่วมมือกับฝ่าย HR ของบริษัทหรือหน่วยงานที่มีสวัสดิการเงินกู้กับธนาคารฯ จะเป็นผู้ส่งข้อมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งรายได้ หลักฐานส่วนตัว และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการยื่นกู้ให้แก่พนักงานที่ประสงค์ยื่นกู้กับธนาคารฯ โดยที่พนักงานไม่ต้องลางาน เพื่อเดินทางไปติดต่อยื่นเรื่องกู้ที่สาขาธนาคารฯ หลังจากนั้น ธนาคารฯจะเป็นผู้ติดต่อและสัมภาษณ์ข้อมูลรายละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณาสินเชื่อทางโทรศัพท์ต่อไป และเดินทางเข้ามาธนาคารเพียงครั้งเดียวเพื่อทำสัญญาภายหลังได้รับแจ้งอนุมัติสินเชื่อแล้วเท่านั้น
และ 3.โครงการ Virtual Branch หน่วยบริการสินเชื่อไร้ที่ทำการ โดยลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา แต่ยังคงได้รับบริการเสมือนอยู่ที่สาขา
“ขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลให้แก่ผู้บริหารและพนักงานให้สามารถทำงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงไปสู่ Digital Bank ของธนาคาร สร้างสรรค์ทัศนคติด้านบวกและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นหนึ่งเดียวและมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันตามโครงการ GHB 1 TEAM รวมถึงจัดทำโครงการ Digitizer พัฒนาระบบการอนุมัติและจัดการเอกสารในลักษณะ Workflow โดยสร้างแบบฟอร์มต่างๆ ผ่านระบบดิจิทัล ลดขั้นตอนการทำงาน ลดการใช้กระดาษ เป็นต้น” นายฉัตรชัย กล่าว
ทั้งนี้ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของธนาคารฯ ทำให้ปัจจุบันธนาคารฯยังคงสามารถเติบได้อย่างแข็งแกร่งและมีความพร้อมในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ โดย ณ เดือน ส.ค. 2563 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารฯมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,273,401 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% สินทรัพย์รวม 1,351,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.55% เงินฝากรวม 1,110,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.74% และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 51,559 ล้านบาท คิดเป็น 4.05% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 2,044 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายฉัตรชัย ยอมรับว่า เป้าหมายการทำกำไรในปี 2563 อาจต้องลดลงไปจากเป้าเดิมที่ 1.53 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจำเป็นจะต้องสร้างความเข็มแข็งของธนาคารฯ ด้วยการตั้งสำรองฯรองรับความเสี่ยงในอนาคต แม้อาจทำให้ธนาคารฯมีกำไรลดลงและการจัดส่งรายได้เข้ารัฐน้อยลง แต่จะทำธนาคารฯเข็มแข็ง สามารถจะรับมือกับความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ ได้ดีขึ้น.