บล. ภัทรปรับลดคาดการณ์การเติบโต GDP ปีนี้เหลือ 1.4%
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยปี 2563 ลงเหลือ 1.4% (จากเดิมที่คาดไว้ 2.2%) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้
แม้การระบาดของไวรัสจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจอาจหดตัวได้ในไตรมาสแรกของปี แต่น่าจะส่งผลกระทบเพียงชั่วคราว และคาดว่าจะมีมาตรการผ่อนคลายนโยบายทั้งการคลังและการเงินเพิ่มเติมและยังคงมองว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 BPS ภายในกลางปีนี้
บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยในปี 2563 ลงจาก 2.2% เหลือ 1.4% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) รุนแรงกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ และคาดว่าเศรษฐกิจน่าค่อยๆฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังปี และได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2564 ขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.5% จากฐานที่ต่ำ
บล.ภัทรคาดว่า การระบาดของไวรัสดังกล่าวจะส่งผลกระทบรุนแรงแต่ชั่วคราวต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน คือ 1) ผลกระทบเชิงลบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 2) การผลิตในจีนที่หยุดชะงักอาจส่งผลกระทบชั่วคราวต่อห่วงโซ่อุปทานและการผลิตในประเทศ และ 3) หากการระบาดในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น ก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการบริโภคภายในประเทศได้
นอกจากนี้ บล.ภัทรยังคาดว่าปัจจัยลบจากการระบาดของไวรัส ตลอดจนความล่าช้าของงบประมาณและปัญหาภัยแล้งน่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสแรกของปี เนื่องจากปัจจัยลบเหล่านี้ เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอ่อนแอ และอาจไม่มีภาคเศรษฐกิจอื่นมาช่วยรองรับผลกระทบ ภาคการผลิตก็ได้รับผลกระทบจากส่งออกที่หดตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่า การสูญเสียความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกที่หดตัวในปีก่อน ในขณะที่ภาคเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี บล.ภัทร คาดว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยยังคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 BPS ภายในกลางปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นและการเบิกจ่ายงบประมาณยังคงประสบปัญหา ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพอาจจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีกว่าที่คาด.