สภาพัฒน์ฯ ปรับจีดีพีลงผลักบาทผันผวน
เงินบาทแกว่งตัวก่อนจะกลับมาอ่อนค่าลงปลายสัปดาห์
เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังตัวเลขจีดีพีไทยปี 2566 เติบโตเพียง 1.9% และสภาพัฒน์ฯ ได้มีการปรับทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาที่กรอบ 2.2-3.2%
อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางของเงินหยวน
ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ เงินบาทอ่อนค่ากลับไปอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินในภูมิภาค
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯที่ขยับขึ้นจากการคาดการณ์ว่าเฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้
ในวันศุกร์ที่ 23 ก.พ. 2567(ก่อนช่วงตลาดนิวยอร์ก) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 36.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 36.02 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ก.พ.67)
สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 ก.พ. 2567 นั้น นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 8,948 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 4,753 ล้านบาท (ซื้อสุทธิพันธบัตร 4,755 ล้านบาทหักตราสารหนี้หมดอายุ 2 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (26 ก.พ.-1 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนม.ค. ของธปท. และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายรายได้/การใช้จ่ายส่วนบุคคล
และอัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
และดัชนี ISM/PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ. ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 (ครั้งที่ 2) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซนด้วยเช่นกัน