เงินบาทอ่อนค่าสัปดาห์ที่แล้ว
• ตลาดเงินปั่นป่วนหลังจีนถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ
• ต่างชาติยังเทขายเงินบาทซื้อดอลลาร์สหรัฐ กลับคืน
• จับการประชุมเฟค ECB และ BOE กดดันตลาดโลก
เงินบาททยอยอ่อนค่าลง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางการคาดการณ์ของตลาดว่า มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ได้แตะจุดสูงสุดของวัฏจักรรอบนี้ไปแล้ว
นอกจากนี้เงินบาทยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงตามจังหวะการย่อตัวของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่สกุลเงินเอเชียในภาพรวมเผชิญแรงกดดันตามทิศทางเงินหยวน หลัง Moody’s ปรับ outlook ของอันดับเครดิตจีน (A1) จาก “stable” มาเป็น “negative”
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชั่น ก่อนการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ประกอบกับน่าจะได้รับอานิสงส์ทางอ้อมจากการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจกลับมาผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีหน้าด้วยเช่นกัน
ในวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับ 35.03 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (1 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 4-8 ธ.ค. 2566 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 4,763 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 1,522 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 982 ล้านบาท และมีตราสารหนี้หมดอายุ 540 ล้านบาท)
สัปดาห์ถัดไป (11-15 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน ตัวเลขประมาณการ และ Dot Plots ของเฟด ผลการประชุม ECB และ BOE สัญญาณเงินทุนต่างชาติ และทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต ยอดค้าปลีก ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวน ยอดค้าปลีก และข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ อังกฤษ และยูโรโซน