SCB CIO ชี้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเหมาะทางเลือกลงทุนระยะยาว
SCB CIO แนะธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับการลงทุนในระยะยาว ยืนหนึ่งรับกระแสโลกใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งหน้าสู่คาร์บอนเป็นศูนย์ ขณะที่ แนวโน้มผลประกอบการของกลุ่มพลังงานหมุนเวียนในปีนี้คาดว่าจะกลับมาเติบโต โดยมูลค่ายังไม่แพง ค่า P/E ดัชนี SP Global Renewable Energy อยู่ที่ 24.2 เท่ายังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก
นายกำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานดั้งเดิมจากฟอสซิล (Energy Transition) ไปสู่พลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ และมีความสะอาดกว่า (Renewables ) เป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นสอดคล้องกับโลกที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะมีผลต่อการใช้ชีวิต ในขณะที่ปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้โครงสร้างของตลาดพลังงานในปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น
SCB CIO มองว่า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนจะมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในปี 2023 หลังจากในปีที่ผ่านมาธุรกิจในกลุ่มนี้ได้รับ ผลกระทบจาก 1) ต้นทุนที่ปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อ 2) มาตรการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของทางภาครัฐนำมาสู่กระแสการเก็บ ภาษี Windfall tax และ 3) แรงกดดันจากการเร่งตัวขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ตามการขึ้นดอกเบี้ย ของธนาคารกลางเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกดดัน Sentiment ของกลุ่ม แต่ในปีนี้ เรามองว่าราคา สินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลงมาจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ต้นทุนปรับตัวลดลงตาม
ด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวลงมา ช่วยลดแรงกดดันในการออกนโยบายควบคุมราคาพลังงาน ในขณะที่ธนาคารกลางยังคงมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อนำเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมาย แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรจะมีการปรับตัวขึ้นช้ากว่าปีที่ผ่านมา และ มีแนวโน้มผันผวนลดลง SCB CIO มองว่าแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมนโยบายที่มีความชัดเจนขึ้นจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และ มีแนวโน้มหนุนกลุ่มพลังงานหมุนเวียนต่อไปได้ เช่น ยุโรป ที่มีแผน REPowerEU ซึ่งจะต้องเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนเกิน 69% ของกระแสไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ในปี 2573 ตามแผน และ สหรัฐฯ ที่ออกกฎหมาย Inflation Reduction Act ลดเงินเฟ้อผ่านการลดการขาดดุลการคลังด้วยภาษีหลายรูปแบบ โดยจะมีการนำเงินภาษีที่ได้ไปจัดสรรลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกระแส Energy Transition ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินสูงถึงประมาณ 3.6-4.0 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีนี้
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg consensus ที่รวบรวมการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมการเงิน มองว่า จะเห็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ของกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในปี 2566 ฟื้นตัว 89% และเติบโตได้ 37% ในปี 2567 โดยได้ปัจจัยหนุนจากต้นทุน ที่มีแนวโน้มปรับตัวลง ส่งผลให้อัตราการทำกำไรฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ Valuation ในปัจจุบัน Forward 12M P/E ของ SP Global Renewable Energyอยู่ที่ 24.2 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งอยู่ที่ 24 เท่า อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในช่วง 3 ปี ย้อนหลังที่กระแสเงินลงทุนใน ESG มีการเร่งตัวขึ้น P/E ในปัจจุบันจะอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เรามองว่ากระแสของภาครัฐที่มีแนวโน้มสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจะเป็นตัวเร่ง ที่ทำใหหุ้นในกลุ่ม Renewable energy มีการ Rerating ขึ้นได้
เมื่อมองการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน พบว่า เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2593 ของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะ จีน สหรัฐฯ และ กลุ่มเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนในการปล่อยมลภาวะคิดเป็น 50% ของโลก เพื่อให้เป็นไปตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลออกนโยบายดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น ขณะที่ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ว่า แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์ และลม จะเป็นที่มาหลักของการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยคาดว่า ความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในปี 2570 จะเติบโตขึ้น 165% จากปี 2564 ส่วนพลังงานลม จะเติบโต 85% ขณะที่อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เติบโต 73%
SCB CIO มองว่า นอกเหนือจากแรงสนับสนุนของภาครัฐ ยังมีปัจจัยอื่นสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอีก ได้แก่ 1) ต้นทุนการใช้พลังงานสะอาดที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และเริ่มอยู่ในระดับต่ำกว่าการใช้พลังงานฟอสซิล 2) กระแส ESG ที่ทำให้อุตสาหกรรมอื่นต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดและมีความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และ 3) การเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ในกระแส Energy transition เช่น ธุรกิจการจัดเก็บพลังงาน ที่ช่วยส่งเสริมให้การใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดมีเสถียรภาพและเป็นที่นิยมมากขึ้น
นายกำพล กล่าวต่อไปว่า ในแง่ปัจจัยเสี่ยงของกระแส Energy transition จะมาจากนโยบายของภาครัฐ ว่าจะให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้การลงทุนในอุตสาหกรรมมีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกันความพร้อมด้านเทคโนโลยี และระบบโครงสร้างพื้นฐานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรม และสุดท้ายแม้ว่าธุรกิจจะมีการลงทุนโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับ Energy transition แต่ Value Chain ในระบบนั้น จะต้องเอื้อต่อความยั่งยืนด้วยเช่นกัน