สกนช.แจ้งกองทุนติดลบหลังอุ้มดีเซล-LPG อ่วม
สกนช.แจงผลดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 65กลไกหลักพยุงราคาดีเซล – LPG / ปี 66 พร้อมเร่งกู้เงินเสริมสภาพคล่องต่อ
สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสรุปผลการดำเนินงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2565 ที่ผ่านมา เผชิญแรงกดดันจากวิกฤตพลังงานโลก ทำให้ต้องใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยพยุงราคาพลังงานในประเทศทั้งดีเซล และก๊าซ LPG อย่างต่อเนื่อง จนติดลบกว่า 1.3 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกระทรวงการคลังจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงินจนสามารถออกเป็นพ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ฯ สามารถกู้ยืมเงินเสริมสภาพคล่องให้กองทุนน้ำมันฯ ได้สำเร็จล็อตแรก 30,000 ล้านบาท
วันนี้ (4 มกราคม 2566) นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานจาการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 และทิศทางปี 2566 ว่า ในภาพรวมจากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งกินระยะเวลานานถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยเฉลี่ยราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 74.26%
ทั้งนี้ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตราการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ เช่น การทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากที่ตรึงไว้ 318 บาท/ถัง 15 กก.มาอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 กก. และการบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จากที่ตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรในปัจจุบัน โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบมากกว่า 130,000 ล้านบาท ขาดสภาพคล่องและมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสามในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการคลังผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน และคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับแล้ว ทาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาทลงนามในสัญญาเรียบร้อยแล้วกับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสิน และส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วันที่ 1 มกราคม 2566 ติดลบอยู่ที่ 121,491 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วงปลายพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม 2565 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตลาดโลกยังคงผันผวนด้วยภาวะสงครามและการถดถอยของเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป
นอกจากนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังได้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไปเพื่อเป็นกลไกรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกทั้งเป็นการช่วยเกษตกรให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร
สำหรับในปี 2566 สิ่งที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องดำเนินการในประเด็นหลัก คือการบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ คือการรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยังมีความผันผวนจากการสู้รบในยูเครน และด้านเศรษฐกิจ โดยแผนการกู้เงินต่อจากนี้ไปจะประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุการกู้ยืมเงินต่อไป
นอกจากนี้ จะมีการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการเชื่อมโยงระบบเพื่อพัฒนาในการรับจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
___________________