ผู้ว่า กฟผ.คนใหม่ ลุย โรงไฟฟ้า-สายส่ง งบ 1 ล้านลบ.
ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ตั้งงบ 1 ล้านล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้า และระบบสายส่ง ปรับรูปแบบการบริหาร กฟผ. สู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยทิศทางการดำเนินงานของ กฟผ. และแนวทางการบริหารงาน หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กฟผ. คนที่ 15 ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า และ รูปแบบการผลิตไฟฟ้า กฟผ. จึงต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุค New Normal ปรับวิธีคิดและการดำเนินงานภายใต้แนวคิด “EGAT for ALL”
โดยตั้งเป้าเดินหน้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานอย่างครบวงจร (Energy Solutions Provider) ด้วยหลักการบริหารแบบ “ยืดหยุ่น ทันการณ์ ประสานประโยชน์” ผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยการมุ่งดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การผลักดันงานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1ในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 8 แห่ง กำลังการผลิต 6,150 เมกะวัตต์ กำลังการผลิต 6,150 เมกะวัตต์ และพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า ซึ่งตั้งงบลงทุน 10 ปี เป็นเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือ เฉลี่ยปีละ 56,000 ล้านบาท
นายบุญญนิตย์ บอกว่า พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าจะเป็นการ เชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน (Grid Connectivity) เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางซื้อขายพลังงานของภูมิภาค และปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในประเทศให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยในปี 2564 จะเร่งดำเนินสร้างสายส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ เชื่อมโยงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา (วัฒนานคร จ.สระแก้ว – พระตะบอง 2 กัมพูชา) เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าปริมาณ 300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566
รวมทั้งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าหลัก ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของประเทศ (RE Forecast Center) พร้อมทั้งนำร่องศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response Control Center) เชื่อมต่อกับระบบของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการตอบสนองทางด้านโหลดในภาพรวมของประเทศ
การปรับปรุงโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ให้มีความยืดหยุ่น ได้เริ่มนำร่องที่โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 แล้ว ทำให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งพัฒนาแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีพลังงานหมุนเวียนเชื่อมต่อเข้าระบบไฟฟ้าปริมาณมาก
2. การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจเดิม ด้วยการซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ โดยไทยเตรียมซื้อไฟฟ้ากัมพูชา 300 เมกะวัตต์ ขณะที่สิงคโปร์จะซื้อไฟฟ้าจากไทยและสปป.ลาว ผ่านประเทศมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดย กฟผ.ยังมีแผนนำเข้าLNG ในอีก 3 ปีข้างหน้า แบ่งเป็น 1.9 ล้านตันในปี 2564 และนำเข้า 1.8 ล้านตันในปี 2565 และ ปี 2566
ขณะเดียวกันมองไปยังการถือหุ้นแหล่งผลิตLNG ซึ่งจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่โดยภายใน 4 ปีจากนี้จะก้าวไปต้นน้ำของสายLNG ได้ นอกจากนี้ยังมองธุรกิจบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ
และ 3. การเดินหน้าธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้แก่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า, เครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว (EGAT DC Quick Charger) ขนาด 100 กิโลวัตต์, ธุรกิจสมาร์ทอีวีชาร์จเจอร์ขนาดเล็กแบบครบวงจรภายใต้แบรนด์ Wallbox, ชุดดัดแปลงสภาพรถยนต์ให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Kit), ธุรกิจแบตเตอรี่อัจฉริยะ (Batt 20C) สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว, ธุรกิจซื้อขายเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (REC) เป็นต้น