6 ปัจจัยหนุนส่งออกปี 63 ระดมสมอง รับมือตัดสิทธิ GSP
“ส่งออกไทยปี 63 จะกลับมาขยายตัว เนื่องจากการส่งออกล่าสุดเดือน ธ.ค. 62 หดตัว 1.3% แต่หากหักน้ำมันและทองคำจะขยายตัวที่ 1.2% ถือเป็นสัญญาณดีว่าการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ดีขึ้น”
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยถึงทิศทางการส่งออกสินค้าของไทย พร้อมกับระบุ 6 ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวสนับสนุนให้การส่งออกมีสัญญาณที่ดีขึ้น ประกอบด้วย
1. เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 3.3% ในปี 63 จาก 2.9% ในปี 62 และเห็นสัญญาณว่าการค้าโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดจากกิจกรรมการผลิตในหลายสาขา
2.ท่าทีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น
3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 4. สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal)
5. สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนแล้ว และมีช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และ 6. ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเดือน ม.ค. 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.44 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐกลับมาอ่อนค่าในรอบ 9 เดือน
ส่วนประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนนั้น “นางสาวพิมพ์ชนก” คาดว่า ยังไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีน เพราะมีอุปสงค์ซื้อสินค้าอาหารไทยที่มีความปลอดภัยและคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการชะงักของการค้าในภูมิภาค
ส่วนประเด็นสินค้าส่งออก 573 รายการ ถูกระงับสิทธิ GSP โดยสหรัฐฯ นั้น “นางสาวพิมพ์ชนก” ยืนยันว่า กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ และเตรียมมาตรการรองรับในทุกกรณีอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้อยที่สุด
“กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนรองรับสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และในด้านการรักษาตลาด และมีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมายกว่า 18 ประเทศ ในปี 63 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญตามแนวนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพื่อรักษาฐานเดิมและขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม และกระจายความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่งแผนกิจกรรมสำคัญ อาทิ เอเชีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังคลาเทศ และ CLMV ยุโรป ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย แอฟริกา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง บาห์เรน และออสเตรเลีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์”
สำหรับ ตลาดส่งออกสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 62 อีกทั้งการส่งออกเดือน ธ.ค.62 ขยายตัวในหลายตลาด การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีน ขยายตัว 15.6% และ 7.3% ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และ 18 เดือน ตามลำดับ
ส่วนการส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางและตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 11.4% และ 8.0% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน และ 16 เดือน ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 1.1% ซึ่งการส่งออกไปตลาดสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงการส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2563
สำหรับสินค้าส่งออกที่ควรเร่งผลักดัน เพื่อให้การส่งออกไทยกลับมาขยายตัวในปี 2563 มีมากกว่า 30 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ทำสถิติมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางการค้าโลกที่ชะลอตัวในปี 2562 และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
“การที่ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้สูงสุดเป็นประวัติการสะท้อนความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ตอบโจทย์ตามความต้องการของตลาด สินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร”
“นางสาวพิมพ์ชนก” ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากการรุกตลาดส่งออกและผลักดันสินค้าศักยภาพแล้ว การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อลดภาษีสินค้า รวมถึงการเจรจาแก้ไขปัญหาจากอุปสรรคและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTBs และ NTMs) ในตลาดเป้าหมายก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกในอนาคต ส่วนผู้ประกอบการ ก็ควรให้ความสำคัญในการดูแลรักษามาตรฐานสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าไทยคงศักยภาพในการส่งออกต่อไป.